เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ฝายแกนดินซีเมนต์ที่แพร่ !บทนำการแก้จนลดเหลื่อมล้ำแบบบูรณาการ

#ฝายแกนดินซีเมนต์ที่แพร่ !บทนำการแก้จนลดเหลื่อมล้ำแบบบูรณาการ

31 July 2022
394   0

 

 

เช้าวันนี้ผมได้รับข้อความและคลิปจากท่านอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ เรื่องผลกระทบเชิงบวกจากการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซิเมนต์ที่จังหวัดแพร่ ความว่า

วันนี้ทราบข่าวดี ผมได้ไปบรรยายในหลักสูตรของสำนักงบประมาณ เมื่อเดือนมิถุนายนในกิจกรรมกลุ่มย่อย เรื่องฝายแกนดินซิเมนต์ ของท่านประธานสังศิต และท่านปานเทพ ประธานอนุด้านทรัพยากรนำ้และที่ดินฯ

นักศึกษาคณะนี้ สนใจมากเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทาย จึงลงมือศึกษาด้วยตนเอง และลงไปในพื้นที่จังหวัดแพร่เพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริง รวมทั้งทำวิจัยในเรื่องนี้เพื่อพิสูจน์ว่าเกิดผลสัมฤทธ์จริงหรือไม่ รายละเอียดปรากฎตามข่าวของพื้นที่ครับ

อบจ.แพร่ ให้การต้อนรับคณะนักศึกษาดูงานผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.) รุ่นที่ 9 สำนักงบประมาณ

วันที่ 28-29 กรกฎาคม 2565
นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และคณะให้การต้อนรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอนก เทียนบูชา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมและคณะ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงบประมาณ ให้ทำการศึกษาทำงานวิชาการ เรื่องแนวทางการส่งเสริม การมีส่วนร่วมของกระบวนการงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กรณีศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนด้วยฝายแกนดินซีเมนต์ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อศึกษาหาข้อมูลในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนกระบวนการงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนด้วยฝายแกนดินซีเมนต์ และได้พบปะซักถามถึงเรื่องการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและประชาชน ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ฝายแกนดินซีเมนต์ บ้านบุญเจริญ หมู่ 1 ตำบลแม่หล่าย และการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ บ้านสันกลาง หมู่ 3 ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่”

 

เมื่อเรามองไปที่ฝายแกนดินซีเมนต์ที่จังหวัดแพร่ เราอาจมองจาก ทฤษฎีหน้าที่นิยม (Functionalism) ซึ่งเป็น มุมมองที่นิยมใช้กันอยู่โดยทั่วไป ทั้งในแวดวงการศึกษา ราชการและธุรกิจว่า

ฝายแกนดินซีเมนต์ทำหน้าที่อะไร ในสังคม? ฝายประเภทนี้ทำหน้าที่ในหน้าน้ำ หรือในหน้าแล้ง หรือทั้งสองฤดูกาล? ฝายทำหน้าที่แล้วมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหน? คุ้มค่ากับต้นทุน ที่ลง ลงทุนไปมากน้อยเพียงไร? คนกลุ่มใดได้ประโยชน์ คนกลุ่มใดไม่ได้ประโยชน์ และคนกลุ่มไหนเสียประโยชน์จากการมีฝายแกนดินซีเมนต์? ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนี้วัดเป็นขนาดของมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนเท่าใดต่อปี? ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นที่ไม่สามารถวัดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีหรือไม่ เช่น เอาไว้กิน ไว้ใช้ เป็นพื้นที่ทางด้านวัฒนธรรมของชุมชน? หากมี เราสามารถประเมินเป็นมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใดต่อปี? เป็นต้น

ในขณะเดียวกันเราควรตระหนักว่า เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย และเครื่องมือการกักเก็บน้ำทุกประเภทที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ต่างทำหน้าที่ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตามที่มันถูกสร้างขึ้นมาในแต่ละยุคสมัย และที่สำคัญก็คือมันทำหน้าที่เพื่อใครในระยะเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์?

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฝาย ทุกประเภท ในโลกนี้และในทุกสังคมต่างมีปรัชญา เบื้องหลังของตัวเอง ตามที่นวัตกร (innovator) หรือผู้ที่มีอำนาจกำหนดเสมอไป เช่น เดียวกันกับฝายแกนดินซีเมนต์ ก็มีปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังของตัวเอง ตามที่นวัตกรและ คณะกรรมาธิการฯได้กำหนดไว้แล้วเช่นกัน

ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังของฝายแกนดินซีเมนต์ก็คือ “ปรัชญาการแก้จน”ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่ กำหนดให้ฝายประเภทนี้เป็นเครื่องมือในการแก้จนให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้

ปรัชญาการแก้จนของเราเป็นปรัชญาของการปฎิบัติ ไม่ใช่ปรัชญา ที่เพียงแต่มีคำอธิบาย ถึงสาเหตุต่างๆของปัญหาเหมือนปรัชญาทั่วๆ ไป ปรัชญานี้เป็นการผสมผสานระหว่างปรัชญา (Philosophy) กับทฤษฎีการปฏิบัติ (Theory of Action) เข้าด้วยกัน

ปรัชญาการแก้จนของเราอธิบายสาเหตุของความยากจนของคนไทยเหมือนกับทฤษฎีและปรัชญาอื่นๆ แต่ข้อที่แตกต่างระหว่างปรัชญาของเรากับปรัชญาส่วนใหญ่แล้วก็คือ เราอธิบายปรัชญา แก้จนด้วยการลงมือปฏิบัติให้เห็นผลและให้เห็น เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือจะอธิบายปรัชญานี้ให้เข้าใจได้ดี ก็มีแต่จะต้องผ่านการปฎิบัติ หรือด้วยการลงมือทำ จนกลายเป็น “ความจริง” ที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาเท่านั้น

ปรัชญา ของเราเป็นปรัชญาที่มองโลกในด้านดี เราเชื่อมั่นว่าโลก สังคม และชุมชน สามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ด้วย “คน”เราไม่ได้มองสังคมที่ดีงาม ที่เป็นอุดมคติ (utopia) ในระยะยาว ที่พวกเราทุกคน ไม่มีโอกาสเห็น เพราะพวกเรา ทุกคนได้ตายไปจากโลกนี้แล้ว

แต่เรามองสังคมในระยะที่ใกล้ๆมาก ที่มนุษย์ หรือพวกเราทุกคนสามารถ สัมผัสได้ เพราะมันเป็น ชุมชนหรือสังคมไทยที่เรา ได้ร่วมกันสร้าง ขึ้นมาให้ “ดีงาม”หรือ “สวยงามขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อยหนึ่งเท่านั้น”

แต่เราจะสร้างสังคม หรือชุมชนให้น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อยหนึ่งนั้น ก่อนการลงมือทำงานของเราจำเป็นต้องมี ปรัชญา หรือทฤษฎีในการทำงาน คนทำงานที่ มีแต่ความปรารถนาดี แต่ไม่มีปรัชญา หรือทฤษฎี อยู่ในวิสัยทัศน์ ของตนเอง ก็ไม่อาจมองเห็น ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าได้

ปรัชญาการแก้ปัญหาความยากจนของคณะ กมธ.เริ่มต้น จากการพิจารณาปัญหาความยากจนของ ประชาชนในแต่ละพื้นที่จากความเป็นจริงตามบริบท (context) ที่แตกต่างกันไปอย่าง หลากหลายที่สุด ตามบริบทของพื้นที่

ดังนั้นบริบทความยากจนในแต่ละพื้นที่ ของสังคมไทยจึงไม่ มีวันเหมือนกันกับบริบทของพื้นที่อื่นๆ ที่เหลือ สำหรับพวกเราแล้ว บริบท ความยากจนแบบหนึ่งก็ต้องแก้ปัญหา ด้วยรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เท่านั้น

ในการแก้ปัญหา ความยากจนของแต่ละพื้นที่ เราสนใจดูความเรียกร้องต้องการ ของคนในแต่ละพื้นที่ว่าความต้องการที่ มากที่สุดของพวกเขาคืออะไร? รูปแบบแก้จนแบบใดจึง จะสามารถแก้จน ในพื้นที่นั้นได้จริง? วิธีการแก้จน ของเรา จึงต้องเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพ ความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เราไม่มีรูปแบบ แก้จนที่เป็นมาตรฐานเดียวที่ยึดถือ แบบตายตัวเป็น”โมเดล” ที่จะนำไปใช้กับการแก้จนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้

การยึดถือโมเดลใด โมเดลหนึ่ง ไปแก้ปัญหาความยากจนของคนไทยโดยทั่วไป ทั้ง ประเทศนั้น เป็นเพียงการใช้ ประสบการณ์ที่แก้จนในพื้นที่ๆมีลักษณะเฉพาะ ภายใต้เงื่อนไขและปัจจัยที่มีลักษณะเฉพาะตัวแบบหนึ่ง แล้วพยายามจะใช้ลักษณะเฉพาะแบบนี้ไปแก้ปัญหาในลักษณะทั่วๆไป ของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะประสบความสำเร็จได้ในทุกกรณี เพราะเราไม่สามารถนำปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆของสถานที่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ใส่เข้าไปแทนที่สภาพความเป็นจริงของอีกที่หนึ่งได้ อย่างแน่นอน

แนวความคิดข้างต้นของเราสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “ตัดรองเท้าให้เข้ากับเท้าของ ผู้ใส่ ไม่ใช่ตัดเท้าของ ผู้ใส่ให้เข้ากับรองเท้า “

ปรัชญาแก้จนของเรา เน้นการแก้จนแบบองค์รวม ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และขาดการบูรณาการกัน

การแก้จนต้องเริ่มต้นจากปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องต้องการมากที่สุดก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ แก้ปัญหาที่สำคัญระดับรองๆ ลงไป เช่น การศึกษา การท่องเที่ยว การทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรณ์ธุรกิจในจังหวัด และสถาบันการศึกษา เป็นต้น จนสุดท้ายชุมชนและชาวบ้านสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองและพึ่งพาตัวเองได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจตลาดที่มีการแข่งขัน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างยั่งยืนครับ

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

30 กรกฎาคม 2565