ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #ผลวิเคราะห์ชี้‘บัตรคนจน’ถึงมือเกษตรกรแค่ 30%

#ผลวิเคราะห์ชี้‘บัตรคนจน’ถึงมือเกษตรกรแค่ 30%

13 October 2017
1081   0

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ( KOFC) ศึกษาวิเคราะห์โครงการประชารัฐสวัสดิการ (บัตรคนจน) นำบัตรคนจนรับสวัสดิการรัฐ วงเงิน 46,000 ล้านบาท ตามรายชื่อผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 11,431,681 คน

ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกร จำนวน 3,322,214 คน หรือประมาณ 30 % และไม่ใช่เกษตรกร จำนวน 8,109,467 คน หรือ 70 % พบบัตรคนจน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 21,215.50 ล้านบาท แต่สัดส่วนแค่ 30 % ตกอยู่กับภาคเกษตร ทั้งๆ ที่เป็นผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ของประเทศ

กรุงเทพธุรกิจ -วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า KOFC ได้วิเคราะห์ ภายใต้สมมติฐาน ด้านการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ภาพรวม พบว่า จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ประมาณ 118,077.82 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาผลกระทบในภาคเกษตร ที่มีเกษตรกร 3.32 ล้านคน ใช้งบประมาณ 13,368.59 ล้านบาท จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคเกษตร 21,215.50 ล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด มูลค่า 21,134.27 ล้านบาท รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มูลค่า 70.73 ล้านบาท และส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม มูลค่า 10.50 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโครงการนี้ที่มีผลต่อภาคการเกษตรตามรายสาขา พบว่า สาขาการผลิตที่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การทำนา มูลค่า 8,542.02 ล้านบาท การเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่า 2,753.76 ล้านบาท การเลี้ยงสุกร มูลค่า 2,270.93 ล้านบาท การทำไร่พืชตระกูลถั่ว มูลค่า 1,235.53 ล้านบาท และการปศุสัตว์ มูลค่า 1,177.83 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ KOFC เห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตรอย่างแท้จริง แต่ภาครัฐควรเน้นการแก้ปัญหาไปที่การพัฒนาความรู้ทักษะการประกอบอาชีพที่มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการบัตรสวัสดิการอาจเป็นการสร้างภาระให้กับภาครัฐในการบริหารงบประมาณจำนวนมหาศาล

ดังนั้น ในระยะต่อไปควรปรับแนวคิดจาก รัฐสวัสดิการ (Welfare) ให้เป็นการพัฒนาทักษะเพื่อพัฒนาอาชีพ (Workfare) เพิ่มมากขึ้น เน้นให้ผู้เดือดร้อนที่ยังพอมีศักยภาพอยู่สามารถพัฒนาตนเองให้พึ่งตนเองได้ หรือกลับเข้าไปแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างสมบูรณ์ ควรเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มงวด รวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่แจ้งข้อมูลเท็จโดยเฉพาะกลุ่มคนในระบบภาษี

ทั้งนี้ ในอนาคตควรสร้างความหลากหลายในการบริการสวัสดิการเพื่อรองรับทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยต้องหาความต้องการที่แท้จริงในแต่ละกลุ่มเป้าหมายก่อน

กัมปนาท เพ็ญสุภา ผู้อำนวยศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เงื่อนไขของโครงการประชารัฐสวัสดิการ กำหนดให้สิทธิ์กับผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้ใช้แรงงานที่กำหนดอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในต่างจังหวด คนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์ได้เข้าร่วมและต้องหางานทำ ในขณะที่ผู้อายุ 18 ปีส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ผู้ปกครองมีรายได้ ทำให้การช่วยเหลือของโครงการนี้ไม่ตรงกับเป้าหมายนัก ดังนั้นรัฐบาลควรทบทวนกรณีนี้และควรพิจารณาไปถึงรายได้ของผู้ปกครองด้วย

นอกจากนี้ เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีความชัดเจนว่ามี“รายได้น้อยที่สุด”ในประเทศแต่มีสัดส่วนผู้ลงทะเบียนในโครงการนี้เพียง 30 % เท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกษตรกรที่อยู่หากไกลไม่สะดวกที่จะเข้ามาลงทะเบียนหรือไม่ทราบข่าวสารเนื่องจากการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ผ่านระบบโซเชียลมีเดีย ผู้ที่เข้าถึงส่วนใหญ่จึงเป็นนักศึกษาและผู้ที่อยู่ในเขตเมือง

ส่วนเกษตรกรแม้ได้ประโยชน์จากการนำเงินไปซื้อปัจจัยการผลิตแต่การใช้เงินดังกล่าวจะทำได้ปีละ 2 ครั้งตามฤดูกาลผลิต แต่โครงการดังกล่าวสนับสนุนให้นำไปซื้อปัจจัยการผลิตทุกเดือนและไม่สามารถสมทบในเดือนต่อไปได้

“โครงการนี้มีประโยชน์มากและต่างประเทศก็ทำกัน แต่ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนต้องทำงานด้วยไม่ใช่นอนรอการช่วยเหลืออย่างเดียว ในขณะที่รัฐบาลต้องตรวจสอบเพื่อปรับปรุงการช่วยเหลือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด อย่างกรณีนักศึกษาทุกคนเข้าเกณฑ์ทั้งหมด ซึ่งบางคนที่ครอบครัวมีฐานะดีอยู่แล้วก็ไม่ควรได้รับสิทธิ์ เป็นการใช้เงินรัฐบาลที่ไม่คุ้ม และโครงการนี้รัฐบาลต้องทำต่อเนื่องหากการตรวจสอบไม่ดีก็ถือว่าเป็นการใช้งบรัฐบาลที่เปล่าประโยชน์” กัมปนาท กล่าว

อภิชาติ ใหญ่ธรรมสาร

สำนักข่าววิหคนิวส์