เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ผลการศึกษาวิจัย !วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกชิ้นแรกเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์

#ผลการศึกษาวิจัย !วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกชิ้นแรกเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์

24 October 2022
360   0

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกชิ้นแรกเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ได้มีการสอบจบดุษฎีนิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง “ฝายแกนดินซีเมนต์: นวัตกรรมสังคม เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ“ โดยพลอากาศเอกสุกสม สุขเกษม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ผลการพิจารณาผลงาน การศึกษาความรู้และความเข้าใจของนักศึกษาอยู่ในระดับดีเยี่ยม (excellent)

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า “ฝายแกนดินซีเมนต์” นับเป็นการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กประเภทหนึ่งที่สามารถเข้าถึงและช่วยเหลือชุมชนการเกษตรให้มีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งปริมาณน้ำผิวดินและปริมาณน้ำใต้ดิน รวมทั้งเพิ่มความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ใกล้เคียง ดังตัวอย่างฝายแกนดินซีเมนต์ กั้นลำน้ำชีที่ตำบลศรีบุญเรือง และฝายแกนดินซีเมนต์ กันลำห้วยอย่างบงที่ตำบลท่านางแมว (จังหวัดขอนแก่น) เป็นต้น

เมื่อมีน้ำแล้วเกษตรกรในหมู่บ้านก็มีความมั่นใจและกล้าลงทุนทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับการนำเอาศาสตร์ของพระราชามาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ปลูกพืชผสมผสาน เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์มากที่สุด ทำให้ได้รับผลผลิตเพิ่มและมีความหลากหลาย สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน พร้อมทั้งดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ภาระหนี้สินลดลง ดึงคนให้กลับมายังชุมชนของตนเอง จึงนับว่าการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถลดปัญหาความยากจนของชุมชนได้

นอกจากนี้ผลการศึกษายังได้ข้อสรุปด้วยว่า “การบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กแบบฝายแกนดินซีเมนต์ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน ใช้งบประมาณไม่มากนัก และไม่ทำลายระบบนิเวศน์

การดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือระเบียบของทางราชการ ซึ่งอำนาจอนุมัติก็อยู่ที่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาคเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือความร่วมมือของคนในชุมชน หากชุมชนเข้มแข็งและมองว่าเป็นปัญหาของชุมชนและจะต้องแก้ปัญหาของตัวเองก่อน จึงจะเกิดการขับเคลื่อนและดึงความร่วมมือจากส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ชัดเจนขององค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง ทั้งร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมทุนทรัพย์และร่วมบริหารจัดการ จึงทำให้ฝายแกนดินซีเมนต์กั้นลำน้ำชีเกิดขึ้นได้ และมีประสิทธิภาพและใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน”

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พลอากาศเอกสุกสม สุขเกษมได้ทุ่มเทศึกษาวิจัยเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์จนประสบความสำเร็จ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานทางวิชาการที่ได้มีการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจระหว่างฝายแกนดินซีเมนต์กับชุมชนชาวบ้าน

ผมทราบดีว่าการเริ่มต้นบุกเบิกกระทำการสิ่งใดก็ตามนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ยากเย็นทั้งสิ้น ผมจึงใคร่ขอขอบพระคุณคณะกรรมการสอบทุกท่านที่ได้ช่วยกันสร้างผลงานทางวิชาการชิ้นนี้ร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.ฉัตรวรัญช์ องคสิงห ผศ.ดร.บังอร พลเตชา ผศ.ดร.กนกรัตน์ ยศไกร และ ผศ.ดร. รัตพงษ์ สอนสุภาพ

นอกจากนี้ ผมใคร่ขอขอบพระคุณอย่างสูงต่อคุณนำพล คารมปราชษ์ และคุณชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ อนุกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรน้ำและที่ดิน ในคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่ได้ให้เกียรติให้ข้อเสนอแนะอันมีค่าแก่นักศึกษาในการสอบครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ผมยังได้รับข่าวดีมาระยะหนึ่งแล้วว่า ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และรองผู้อำนวยการสำนักบริหารวิชาการ ฝ่ายบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่อง “วิจัยศึกษาคุณลักษณะฝายแกนดินซีเมนต์ สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 งบประมาณที่ได้รับอนุมัติจำนวน 7 ล้านบาทถ้วน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน และท่านเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยชิ้นนี้ด้วย

ผมหวังว่างานวิจัยฉบับนี้จะเป็นการช่วยยืนยันในทางวิชาการว่าฝายแกนดินซีเมนต์เป็นประโยชน์และเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่คนในภาคการเกษตรของไทยได้เป็นอย่างดีจริง

รวมทั้งผมยังได้รับทราบข่าวดีด้วยว่าในขณะนี้ได้มีความร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวนสี่แห่งคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในการจัดทำข้อเสนอ “โครงการการจัดทำแผนแม่บทการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอีสานและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ“ เพื่อขอการสนับสนุนการทำวิจัยในระดับทั่วประเทศขึ้นอีกด้วย

ผมได้รับทราบข่าวนี้ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะงานวิจัยในโครงการนี้จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง ผมขอให้กำลังใจและขอให้ท่านอาจารย์ทุกๆท่านประสบความสำเร็จด้วยดีครับ

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

21 ตุลาคม 2565