ข่าวประจำวัน » #ประยุทธ์ ขวางม๊อบยางเข้ากรุงฯ !! อ้างอยู่ที่ไหนก็ร้องได้

#ประยุทธ์ ขวางม๊อบยางเข้ากรุงฯ !! อ้างอยู่ที่ไหนก็ร้องได้

17 November 2017
455   0

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า จำเป็นต้องเข้าใจในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไปในแนวทางที่จะร่วมมือกันได้

แนวหน้า – เรื่องที่ 1 ประเด็นราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์หลายอย่าง เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก ช่วงปี 2540-2548 น้ำมันราคาแพง ทำให้ราคายางสังเคราะห์แพงตามไปด้วย ส่งผลให้หลายประเทศรวมทั้งไทย หันไปส่งเสริมให้ปลูกยางพาราเพื่อลดการนำเข้ายางสังเคราะห์ แต่พอราคาน้ำมันลด ราคายางสังเคราะห์ก็ลดตาม แต่ปริมาณยางธรรมชาติยังคงมากอยู่ ทำให้เกินความต้องการ

เรื่องที่ 2 ประเด็นปริมาณการผลิตยางพารา สืบเนื่องจากข้อแรก ช่วงปี 2554-2558 ทิศทางของโลกลดการผลิตลงแต่ไทยเราผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตในช่วงปัจจุบันมีจำนวนมาก จนเกิดความไม่สมดุลกัน ที่สำคัญเกษตรกรไทยปลูกยางเป็น “พืชเชิงเดี่ยว” ทำให้เมื่อราคายางผันผวนก็จะมีผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน

เรื่องที่ 3 ประเด็นการใช้ยางพาราในประเทศน้อยลง เมื่อเทียบกับผลผลิต ประเทศไทยเราผลิตยางพารา ถึง 4.47 ล้านตัน มีการใช้ยางพาราในประเทศเพียง 0.60 ล้านตัน

เรื่องที่ 4 คือประเด็นความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยางพารา ในปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางราว 20 ล้านไร่ โดยเฉลี่ยอัตราผลผลิตประมาณ 225 ถึง 245 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่พื้นที่กรีดยาง ภาคเหนือให้ผลผลิตเฉลี่ยต่ำสุด คือ 143 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานให้ผลผลิตเพียง 185 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากอากาศ ปริมาณน้ำและดินไม่เหมาะกับการปลูกยางพารา อีกทั้งปัญหาค่าขนส่งยางมาตลาดกลางซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของเกษตรกร

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาของยางพาราของรัฐบาลนี้ ในระยะยาว เพื่อความยั่งยืนก็คือ

1.ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางมีการประกอบอาชีพเสริม

2.สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รัฐก็จะชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ให้แก่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการดำเนินธุรกิจแปรรูปยางนะครับ

3.ส่งเสริมการใช้ยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศให้มากขึ้น

4.ควบคุมและลดพื้นที่ปลูกยางพาราให้เหมาะสม เน้นลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสมในบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ ซึ่งมีปัญหาทั้งปริมาณน้ำ ระบบชลประทาน และการขนส่ง

5.จัดตั้ง “การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)” ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งขณะนี้เราก็เพิ่งเริ่มปฏิบัติมา อาจจะมีหลายอย่างถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนกันขึ้นมาต่างๆ รัฐบาลได้ให้กระทรวงเกษตรฯตรวจสอบการดำเนินการของ กยท. อยู่

เรื่องที่ 6 ความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพารา เราทำมาตลอด ไม่ใช่ไม่ทำเลย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ผ่านสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) มีมาตรการควบคุมอุปทานให้อนาคตมีปริมาณการผลิตยางพาราที่เหมาะสม แต่ส่วนใหญ่มีปัญหาที่เรา ใครเขาไม่เดือดร้อน เดือดร้อนน้อย เขาก็ไม่อยากมีมาตรการเหล่านั้น แต่เรามีปัญหามากที่สุด

“เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ทุกคน ทุกฝ่ายในห่วงโซ่ของยางพาราไทย มีความเข้าใจที่ตรงกัน ขอให้ทุกคนได้อดทน เปลี่ยนแปลง ไว้ใจซึ่งกันและกัน แล้วก็มีหลักการและเหตุผลไม่ว่าจะประท้วง หรือยื่นหนังสืออะไรต่างๆ ก็ตาม ขอร้องว่าขอให้ยื่นอย่างสงบ ไม่อยากให้มีการนำเกษตรกรเข้ามาที่กรุงเทพ ต้องมายื่นกับนายกฯ ยื่นในพื้นที่นั่นแหละ แล้วเขาก็ส่งถึงผมอยู่ดีนะครับ มาเสียเวลาการทำมาหากินเปล่าๆ สิ้นเปลืองด้วยนะ ผมไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมือง ผมเข้าใจเศรษฐกิจสำคัญที่สุด ก็ปัญหาอยู่ที่ว่ายังไงนะครับ ถ้าทุกคนทำสวนยาง เมื่อยางราคาไม่ดี คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี เพราะรายได้มีแต่ยางอย่างเดียว ต้องคิดใหม่นะครับ จะได้แก้ปัญหาได้ร่วมกันนะครับ  ตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ทุกฝ่ายก็มีประโยชน์ร่วมกัน รัฐบาลก็ไม่มีข้อขัดแย้ง มีรายได้มากขึ้น ประชาชน เกสรกรสวนยาง หรือเกษตรกรอื่นๆ ก็ต้องทำเช่นเดียวกันนี่แหละนะครับ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำนักข่าววิหคนิวส์