ข่าวประจำวัน » #ประยุทธ์ยืนยันทรัมป์ไทยมีเลือกตั้งแน่นอน

#ประยุทธ์ยืนยันทรัมป์ไทยมีเลือกตั้งแน่นอน

3 October 2017
761   0

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ไม่เปลี่ยนโรดแมป โดยในปีหน้าพร้อมประกาศวันเลือกตั้ง ขณะที่บรรดานักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่าสหรัฐฯ เน้นการค้ามาก่อน ประชาธิปไตยไว้ทีหลัง

BBC – พล.อ.ประยุทธ์และคณะเข้าพบและเจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเวลา 12.20 น. ของวันที่ 2 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น (00.20 น. ตามเวลาประเทศไทย) จากนั้นในเวลา 12.40 น. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรีได้หารือกันภายในห้องทำงานรูปไข่ โดยมีภริยาของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมด้วย ใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที จากนั้นจึงเป็นการหารือเต็มคณะในแบบ Working Lunch หรือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน

ในระหว่างหารือกัน พล.อ.ประยุทธ์หยิบยกประเด็นเลือกตั้งในไทยขึ้นมาพูด แม้ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้สอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในไทยก็ตาม “ผมก็พูดกับเขาว่าในเรื่องประชาธิปไตยแบบสากลนั้น ก็เป็นไปตามโรดแมปของผม และในปีหน้าเราก็จะประกาศวันเลือกตั้งออกมา โดยไม่มีการเลื่อนอะไรสักอย่าง พอเราประกาศการเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องมีกรรมวิธีอีก 150 วันตามกฎหมาย ประกาศเมื่อไร ก็นับไปสิ เขาก็ไม่ได้ถาม แต่ผมแสดงความเชื่อมั่นให้เขา ผมไม่ได้ปกปิดใคร ผมไม่ได้บิดเบือนดังที่ใครกล่าวอ้าง ผมก็พูดแบบนี้มาตลอด” พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังออกมาจากทำเนียบขาวแล้ว

ผู้นำไทยคนแรกที่ไปเยือนสหรัฐในรอบ 12 ปี
พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกในรอบ 12 ปีที่เดินทางไปเยือนและหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเป็นผู้นำของอาเซียนคนที่ 3 ที่ได้เดินทางไปสหรัฐฯ ตามหลังผู้นำเวียดนาม มาเลเซีย และหลังจากนี้อีก 1 เดือน นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ก็ได้รับเชิญไปเยือนสหรัฐ

ทั้งสื่อนอกและสื่อไทยหลายรายมองว่านโยบายด้านการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทรัมป์เริ่มเด่นชัดขึ้นมาก และการผูกสัมพันธ์กับอาเซียนก็เป็นเป้าหมายสำคัญของสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาค ภายหลังจากจีนได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในเขตนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เพราะปกติสหรัฐฯ จะไม่เชิญหรือแสดงความใกล้ชิดกับประเทศที่มีรัฐบาลที่มาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งมีการละเมิดเสรีในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเห็นชัดในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยไม่ราบรื่นนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมา

ลดแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ
ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ข้อมูลจากระทรวงพาณิชย์ระบุว่าปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น มูลค่าการค้า 2 ฝ่ายในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ปีนี้นั้นมากกว่า 9 แสนล้านบาท

เมื่อเดือน เม.ย. ไทยถูกจัดอยู่ในรายชื่อ 15 ประเทศที่อาจมีพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ เพราะได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจตอบโต้ทางการค้าด้วย ขณะที่ทางการไทยพยายามบอกว่าการเดินทางไปครั้งนี้ เพื่อนำนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ จากปัจจุบันลงทุนอยู่แล้ว 23 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแผนเพิ่มการลงทุนอีกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างงานในสหรัฐฯ อีกมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะสามารถลดแรงกดดันเรื่องการค้าจากสหรัฐลงไปได้

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก่อนไป
อย่างไรก็ตามหลายกลุ่มในไทยแสดงความกังวลว่าไทยอาจยอมแลกกับอะไรหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรยา การนำเข้ายาฆ่าแมลงที่เป็นสารอันตรายที่หลายประเทศเลิกใช้แล้ว หรือแม้แต่เสียงจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่ส่งหนังสือผ่านสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เพื่อประท้วงแรงกดดันจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ไทยนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ รวมทั้งการเจรจาเรื่องซื้ออาวุธที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่าง นายกวี จงกิจถาวร ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่านายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปพร้อมกับรายการซื้อยุทโธปกรณ์ยาวเหยียด เพราะก่อนหน้านี้ไม่สามารถจะซื้อได้ กวีชี้ว่าไทยมีความประสงค์ที่จะซื้อยุทธภัณฑ์อย่างกว้างขวางมากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องบินรบมือสอง

ผู้นำ 2 ประเทศใช้เวลา 30 นาทีในการหารือกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เผยว่ารู้สึกประทับใจในการต้อนรับที่เป็นไปอย่างอบอุ่น
หลังการหารือ พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เรื่องการซื้ออาวุธเพียงแต่ว่าไทยจะดำเนินการไปตามแผนพัฒนากองทัพในระยะ 5-10 ปี ซึ่งต้องดูตามงบประมาณ ส่วนสถานการณ์ในเกาหลีเหนือ ไทยได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตามพันธกรณี ซึ่งก็คือมติสหประชาชาติอย่างแน่นอน และสนับสนุนให้เกาหลีเหนือเข้าสู่การเจรจา
ส่วนวันที่ 3 พล.อ.ประยุทธ์จะเดินไปที่วุฒิสภา เพื่อพบและหารือกับนายออร์ริน แฮทช์ ประธานวุฒิสภา และเดินทางกลับประเทศไทยในวันรุ่งขึ้น
ขายของต้องมาก่อน ประชาธิปไตยไว้ทีหลัง
ขณะที่บรรดานักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าสหรัฐฯ “มุ่งขายของ” และแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามนโยบาย “อเมริกัน เฟิร์ส” ของประธานาธิบดีทรัมป์ มากกว่าคำนึงถึงคุณค่าประชาธิปไตยแบบในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หากดูคำต้อนรับของประธานาธิบดีทรัมป์ จะพบว่าสหรัฐฯ เน้น “ขายของ” โดยเป็นการยืนยันข้อตกลงเบื้องต้นในคราวที่รัฐมนตรีพาณิชย์ และรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ มาเยือนไทย ไม่มีการเจรจาอะไรใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือการพบปะกันครั้งนี้ไม่มีประเด็นการเมืองในไทย

“ทรัมป์ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ จะเห็นว่าก่อนหน้านี้ก็เคยพบปะกับผู้นำซึ่งถูกวิจารณ์เรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในยุคนี้สหรัฐฯ ยึดผลประโยชน์ของตัวเองตามนโยบาย ‘อเมริกันเฟิร์ส’ เป็นหลัก หากใครสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้สหรัฐฯ ได้ เขาก็ยืดหยุ่นให้ ไม่ได้เอาหลักการเมืองภายในมาพิจารณาเป็นสำคัญ” ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์กล่าว

นายกรัฐมนตรีเชิญ นางอิวานกา ทรัมป์ บุตรสาวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สนใจเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ให้มาดูงานในไทย
ด้านนายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรต์ วอทช์ ประจำประเทศไทย บอกกับบีบีซีไทยในทำนองเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ผู้นำเผด็จการคนแรกที่ได้เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้นำเผด็จการหลายคนเคยเยือนทำเนียบขาวมาแล้ว อาทิ อียิปต์ ตุรกี เวียดนาม และมาเลเซีย
แถลงการณ์ร่วมระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ เป็นสิ่งตอกย้ำว่าสหรัฐฯ ได้มุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ทางการค้า เพื่อที่จะให้ไทยซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น และหันกลับมาในความสำคัญในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ โดยลดความสำคัญด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

“พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ผู้นำเผด็จการคนแรกที่ได้เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ..” นายสุณัยกล่าว
“นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นายทรัมป์ไม่ได้สนใจเรื่องค่านิยมธรรมเนียมปฏิบัติด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน กลับมีความยินดีอย่างมากในการคบหาสมาคมกับผู้นำเผด็จการ” นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนกล่าว
อย่างไรก็ตาม องค์การฮิวแมนไรต์ วอทช์ เชื่อว่า สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่มีความเข้มแข็งและยึดมั่นในเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย จะออกมาตรวจสอบอย่างเข้มข้น ในข้อตกลงในอนาคตระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลังจากที่นายทรัมป์ได้หารือกับผู้นำของไทย เช่น การกลับมาให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทย
ให้คำมั่นว่าเลือกตั้ง แต่ไม่การันตีประชาธิปไตย
ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าในปีหน้าจะประกาศวันเลือกตั้งนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ให้ความเห็นว่า นายกฯ ไทยย่อมตระหนักดีว่าหากยังไม่มีความแน่นอนเรื่องเลือกตั้ง ไทยก็จะถูกกดดันอีก ความน่าเชื่อถือลดลงไปอีก
“สรุปแล้วเป็นการประสานผลประโยชน์ร่วมกันของ 2 ประเทศ เราอยากไปเพราะต้องการความรู้สึกชอบธรรม ได้รับการยอมรับจากมหาอำนาจ สหรัฐฯ ก็รู้ ก่อนเดินทางจึงส่งรัฐมนตรีกลาโหมมาเจรจาเรื่องการซื้ออาวุธ ส่งรัฐมนตรีพาณิชย์มากดดันเรื่องดุลการค้า ให้รับสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เราจึงพยายามเอาใจเขาด้วยการซื้อถ่านหิน หรือเตรียมลงทุนด้านปิโตรเคมีในสหรัฐฯ เพื่อสนองที่สหรัฐฯ ต้องการให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ” ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์กล่าว

พัฒนาการท่าทีสหรัฐฯ ต่อไทยหลัง 3 ปี รัฐประหาร
ขณะที่นายสุณัยเห็นว่า คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่มีความน่าเชื่อถือ” เพราะที่ผ่านมาผู้นำของไทยก็เคยกล่าวถึงเรื่องการเลือกตั้งกับผู้นำชาติต่างๆ ในเวทีโลกว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ก็มีการเลื่อนออกไปหลายครั้ง คำประกาศว่าปีหน้าจะมีการประกาศเลือกตั้งนั้น จึงเชื่อว่าจะไม่นำไปสู่การพัฒนาของประชาธิปไตยในประเทศ

“ต่อให้มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ ในเมื่อในระหว่างการลงประชามติยังมีการกีดกันการแสดงความคิดเป็นอย่างเสรี และที่สำคัญคือระบบคสช. ได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้แล้วในรูปแบบการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเป็นการเมืองแบบเสรีและเป็นธรรม” นายสุณัยกล่าว

สำนักข่าววิหคนิวส์