พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้ว่า สถานการณ์น้ำประเทศไทยในเวลานี้ ในเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำสะสมร้อยละ 79 โดยยังสามารถรับน้ำได้อีกร้อยละ 20 และเนื่องจากขณะนี้มีความเสี่ยงที่ประเทศจะต้องเจอกับสถานการณ์พายุฝน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในจุดที่สำคัญแล้ว โดยจากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ภาคอีสาน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงมา มีปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนค่อนข้างมาก และจะใกล้จะเต็มความจุของเขื่อน จึงมีแผนที่จะปัดน้ำผ่านทางระบายน้ำหลักของประเทศ เพื่อให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ผ่านทางลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องสูบน้ำมาทำงานอย่างเต็มที่ในการผลักดันน้ำให้ได้ตามเป้า
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ยังคงมีจุดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 3 จุด ประกอบด้วย จ.นครสวรรค์ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เวลานี้สามารถระบายน้ำได้ 2,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤตที่ 2,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถือเป็นจุดสุดท้ายที่จะสังเกตว่าจะส่งผลกระทบถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือไม่ เป็นพื้นที่กว้างและสามารถระบายน้ำได้เวลานี้ 2,260 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤตที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนที่เกิดขึ้น แต่อาจจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบบ้างในส่วนของพื้นที่นอกคันกันน้ำตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพมหานคร
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 12-14 ตุลาคม กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักขึ้นอีก จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินจุดวิกฤตแล้ว นอกจากนั้นยังได้สั่งการเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องมือระบายน้ำตามพื้นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสุโขทัยหรือพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ โดยรายงานล่าสุด พบว่าพื้นที่ส่วนใต้ของจังหวัดนครสวรรค์ ใต้เขื่อนเจ้าพระยา มีพื้นที่รับน้ำทั้งหมด 12 ทุ่ง ได้ดำเนินการปัดน้ำเข้าไปแล้วร้อยละ 70 ยังเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกร้อยละ 30 จึงคาดการณ์ว่าหากปริมาณฝนไม่มากจนเกินไป จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามเป้าที่วางไว้
cr.สยามรัฐ
สำนักข่าววิหคนิวส์