ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #นายกฯยัน! เร่งแก้ปัญหาบ้านตุลาการเต็มที่ ขอปชช.เชื่อใจ ปัดปิดกั้นพีมูฟ

#นายกฯยัน! เร่งแก้ปัญหาบ้านตุลาการเต็มที่ ขอปชช.เชื่อใจ ปัดปิดกั้นพีมูฟ

4 May 2018
501   0

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศษสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การสร้างบ้านพักตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รู้สึกไม่สบายใจ เป็นกังวลใจมาโดยตลอด เพราะมีผลกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร จากหน่วยงานราชการ นักวิชาการ และสื่อทุกแขนง ในทุกแง่มุมไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากใคร และเมื่อใด อยากให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่ารัฐบาลและ คสช. จะพยายามทำอย่างเต็มที่ ด้วยความรอบคอบ ขอให้ไว้ใจตนเอง เหมือนที่เคยไว้ใจมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ว่าเราจะต้องหาทางออก ที่ดีที่สุดให้กับประเทศ

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะทำงาน เข้าไปพูดคุยหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ทราบว่าการพูดคุยในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยสิ่งแรกที่อยากให้ทำก่อน คือการปลูกป่าขึ้นมาก่อน เรื่องอื่นให้คณะทำงาน ฝ่ายกฎหมายดูรายละเอียด แต่ข้อสำคัญก็คืออย่าไปแสดงความรังเกียจ ชิงชัง ข้าราชการของศาล เพราะเหล่าข้าราชการเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนไปสร้างเอง เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนการเคลื่อนไหวของ P-Move นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ปัญหาให้ต่อไป จะนำเข้าพิจารณาในคณะทำงานของ คทช. การจัดสรรที่ดิน โดยได้สั่งการไปหมดแล้ว เพียงแต่หลายคนใจร้อน เร่งรัด โดยขอให้ทุกคนทำตามกติกา บรรดาแกนนำต่างๆ ต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้มีปัญหาต่อไปในอนาคต ยืนยันรัฐบาลไม่มุ่งหวังที่จะไปปิดกั้น แต่ว่ารับเข้ามาในการพิจารณาของ คทช.ในการจัดที่ดินต่อไป การเคลื่อนไหวต่างๆ อยากให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มาสู่การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ในเชิงกดดันกันไปกันมา เพราะว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องขอที่ดิน รัฐก็ดำเนินการอยู่ ถ้าไปกดดันมากๆ มันก็ทำไมได้อยู่ดี บางครั้งก็ต้องฟังเหตุผลกันบ้าง

ดังนั้น จึงขอฝากให้ช่วยกันพิจารณาการสร้างวัฒนธรรม “การปรองดอง” นี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานใหม่กับสังคมไทย ไม่ได้หมายความว่าปรองดองเพื่อหาประโยชน์ร่วมกันอีก แต่จะต้องทำให้เกิดธรรมาภิบาลให้ได้ ให้เราสามารถบริหารความขัดแย้งได้ ด้วยเหตุผล ด้วยกฎหมายปกติที่มีอยู่หา “จุดลงตัว” ให้ได้ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ใช้นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ร่วมกัน ในการพิจารณาหาทางออกซึ่งเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่พระราชทานไว้ ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ

สำนักข่าววิหคนิวส์