ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #นัดถก”กกต.-กรธ.”รัฐบาลขยับเตรียมเลือกตั้ง ดักคอพรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวตได้

#นัดถก”กกต.-กรธ.”รัฐบาลขยับเตรียมเลือกตั้ง ดักคอพรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวตได้

13 June 2018
948   0

“มีชัย” เผยรบ.เรียก “กกต.-กธร.” หารือประเด็นกฎหมาย ขั้นตอนการเลือกตั้งที่ทำเนียบฯเย็นวันพุธนี้ ดักคอพรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตได้ ไม่ต้องรอ กกต.แบ่งเขตกาบัตร ขณะที่พรรคเพื่อไทยเผยลูกทีมถูกบีบให้ย้ายพรรค ด้าน”บิ๊กตู่”»บิ๊กตู่”เข้ากราบ”หลวงปู่ลี”เกจิดัง “ปากน้ำโพ” ประชุมครม.สัญจรรับปากพัฒนาภาคเหนือตอนล่าง เผยมีมาตรการประกันราคาข้าว-จำนำยุ้งฉาว ตีกลับเพิ่มบำเหน็จ2ขั้นเจ้าหน้าที่คสช.

แนวหน้า – เมื่อวันที่ 12มิถุนายน นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนภายหลังจากที่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปยังรัฐบาลแล้วว่า ทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอนโรดแม็ปที่นายกฯ ได้พูดเอาไว้

‘มีชัย’ถก’กรธ.-กกต.’13 มิย.

ดังนั้น กระบวนการก็เดินหน้าไปตามทิศทางที่ควรจะเป็น แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุสุดวิสัย โดยในขณะนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกทาง กรธ. และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าหารือต่อประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนการเลือกตั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเย็นวันที่13 มิถุนายน โดยประเด็นที่จะหารือนั้นตนทราบเพียงเบื้องต้นแต่ยังไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจากไม่ได้รับแจ้งวาระการประชุม ส่วนกรธ. จะส่งใครไปร่วมประชุมนั้น ตนขอหารือกับ กรธ. ก่อน

นายมีชัย ยังกล่าวถึงขั้นตอนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ว่า ต้องให้ กกต. ชี้แจงเพราะถือเป็นผู้ชำนาญการที่จะมีรายละเอียดและไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้ง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาลกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาทิ การแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมถึงขั้นตอนที่พรรคการเมืองต้องจัดตั้งสาขาและกำหนดให้ทำเลือกตั้งขั้นต้น หรือ ไพรมารี่โหวต เพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต. เคยชี้แจงเกี่ยวกับเวลาทำงาน ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลา 60 วันนับจากวันที่กฎหมายว่าด้วยเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ จะมีผลกระทบต่อการเตรียมเลือกตั้งของพรรคหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า กกต. สามารถร่นระยะเวลาดังกล่าวได้ และใช้ช่วงที่รอการบังคับใช้ของร่าง พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 90 วัน เตรียมความพร้อมไว้ได้ ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งเบื้องต้น ซึ่งตนเข้าใจว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งรอบใหม่ จะไม่ทำให้เขตเลือกตั้งที่เคยบังคับใช้เปลี่ยนแปลงมากนัก และหากสอบถาม กกต. เชิงลึกเขาอาจบอกข้อมูลและการเตรียมงานได้ และอาจใช้เวลาไม่มาก

ทำไพรมารี่โหวตทีเดียวในจว.

ถามต่อว่ากรณีของพรรคการเมืองที่ต้องการให้ คสช. เร่งปลดล็อคคำสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมืองเพื่อจะได้หาสมาชิกและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไพรมารี่โหวตให้กับประชาชนและผู้ที่จะลงเลือกตั้ง นายมีชัย กล่าวว่า ประเด็นให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ พรรคการเมืองสามารถทำได้ ผ่านการส่งเอกสารและใช้ระบบเทคโนโลยีสื่อสารไปยังประชาชนได้

“ที่คนเขาออกมาว่าต้องเร่งเลือกตั้งให้เร็วๆ ผมไม่ทราบว่าเขาคิดถึงคนที่จะส่งสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะยังมีขั้นตอนและการปฏิบัติที่ต้องใช้เวลาตามกฎหมายกำหนดไว้ แม้บทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายส.ส.ที่กำหนดให้ทำไพรมารี่โหวต แต่เขาผ่อนปรนให้ไพรมารี่โหวตคราวแรกสามารถทำได้ทีเดียวในจังหวัดที่จะส่งผู้สมัครส.ส.ไม่ต้องทำเป็นรายเขตก็ได้ ดังนั้นอาจไม่ต้องรอให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วเสร็จก็ได้” นายมีชัย กล่าว

วิษณุเผยยังไม่เชิญการเมืองถก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการนัดประชุมดังกล่าวยังไม่มีพรรคการเมืองเข้าร่วม แต่ต้องรอหลังจากนั้นก่อน ส่วนจะตัดพรรคการเมืองวันไหนขึ้นอยู่กับ คสช.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่าถึงตอนนี้ยังยังประเมินไม่ได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งทั่วไปอย่างไหนจะเกิดขึ้นก่อน แม้ว่าเดิมทีรัฐบาลตั้งเป้าให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อน แต่สนช. ตั้งใจจะเร่งรัดพิจารณากฎหมายทุกฉบับให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้งทั่วไป เพราะเกรงว่าหากมีกฎหมายคั่งค้างระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะทำให้เกิดความล่าช้าได้

‘พท.’เผยถูกบีบให้ย้ายพรรค

วันเดียวกันพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีใกล้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งแต่มีกระแสข่าวคนของพรรคพท.ย้ายพรรคไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐซึ่งประกาศตัวสนับสนุนรัฐบาลจำนวนมาก ว่า มีแต่ข่าวยุกันไป แหย่กันมา แต่เรื่องจริงนั้นไม่มี ทางคนที่เป็นข่าวเขาก็โทรมาบอกว่าไม่จริง แต่อย่างไรก็ตาม การมีข่าวในลักษณะนี้ออกมาก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจจะมีคนไปบ้าง เช่น ที่โทรมาเล่าให้กันฟังคือคนที่มีคดีความแล้วโดนเอาเรื่องคดีมาบีบ หรือคนที่มีคดีความแล้วเขามาให้ความหวังว่าใครไปอยู่กับเขา เขาช่วยได้ คนที่มีคดีก็อดที่จะหวั่นไหวไม่ได้ เพราะเหมือนคนที่ลอยคออยู่กลางแม่น้ำ มีขอนไม้อะไรลอยมาก็ต้องคว้าไว้ก่อน

เมื่อถามว่า ทางผู้บริหารพรรคไปจนถึงสมาชิกรู้สึกหวั่นไหว หรือกังวลหรือไม่ พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องหวั่นไหว หรือไม่หวั่นไหว ใครจะไปเราก็ไม่อยากให้ไปหรอก เพราะเราอยู่กันด้วยน้ำใจ อยู่กันด้วยอุดมการณ์ ซึ่งตอนนี้เองก็มีแต่ข่าวแต่ยังไม่เห็นว่ามีใครไป ที่ลงๆข่าวไปบางทีเจ้าตัวเขาก็โทรมาทั้งนั้นว่า ไม่จริงนะ ไม่รู้ว่ามีข่าวได้อย่างไร ทั้งนี้ ตนยังเชื่อมั่นว่าพรรคพท.เรายังคงเหนียวแน่น

‘บิ๊กตู่’นมัสการหลวงปูลี

เช้าวันเดียวกัน ที่จังหวัดนครสวรรค์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯหัวหน้าคสช. พร้อมคณะ ในโอกาสวันพระ ได้เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ลี ตาณังกะโร เจ้าอาวาสวัดหัวตลุกวนาราม (วัดป่าหัวตลุก) ต.สระแก้ว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดย พล.อ.ประยุทธ์และคณะ ได้ถวายภัตตาหารเช้า เครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม และสนทนาธรรมกับหลวงปู่ลี พร้อมถือโอกาสเข้าไปบีบนวดขาให้หลวงปู่ลี ก่อนระบุว่า ตนจะคอยบีบนวดขาให้บิดาเสมอ เพราะบิดาอายุมากแล้ว วันนี้เป็นวันพระ ถือเป็นวันดี จึงถือโอกาสเข้ามากราบนมัสการ ทั้งนี้กำหนดการนี้ ไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

สำหรับหลวงปู่ลี เดิมเป็นชาวจังหวัดขอนแก่น เกิด พ.ศ. 2479 โดนงูเห่ากัดเมื่อตอนเด็ก โดยชาวบ้านคิดว่าจะต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีโรงพยาบาล แต่ก็เกิดปาฏิหาริย์ ทำให้อาการดีขึ้นด้วยการรักษาแบบชาวบ้าน มีปัญหาเพียงนิ้วกลางที่หยิกงอ จากนั้นจึงได้เริ่มเข้าบวชเรียน และได้ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง พระป่ากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ก่อนจะเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น และจากวัตรปฏิบัติที่ดีงาม จึงเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน มาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับคนสนิทว่า พระสงฆ์ดี จะอยู่อย่างง่ายและสงบ โดยหลวงปู่ลีได้มอบ “คชสิงห์หลวงปู่ลี” ปี 2551 และหนังสือชีวประวัติชื่อ “นะโมพุทธอัสสะ” ให้นายกฯและคณะด้วย

ยกแรกถกพัฒนาศก.4จังหวัด

จากนั้นเวลา 08.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาที่อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ เพื่อเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตรและจ.อุทัยธานี ก่อนจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 หรือ ครม.สัญจร

โดยข้อเสนอการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง2 มีดังนี้ 1. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hab) อย่างยั่งยืน 2.ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 3.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคม

5.สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว

โดยในตอนท้ายนายกฯ กล่าวว่า การพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ จะพิจารณาสนับสนุนให้ตามความเหมาะสมของแผนงาน โครงการ และความเร่งด่วน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับงบประมาณของแผ่นดินด้วย โดยจะไม่สนับสนุนงบประมาณทุกอย่างตามที่กลุ่มจังหวัดเสนอขอมา เพราะต้องการบูรณาการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พร้อมพัฒนาเหนือตอนล่าง

ต่อมาในช่วงบ่าย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ภายหลังการประชุมครม.พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้รับข้อเสนอในงบประมาณการ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เพื่อไปดูแลต่อไป

ซึ่งในขณะนี้ด้านโครงสร้างพื้นฐานรถไฟ ถนนก็มีแผนจะดำเนินการอยู่แล้วโดยใช้งบประมาณในปี 2562 รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำบึงสีไฟ บึงบอระเพชร ที่ได้ขุดลอกไปบางส่วน

“เรื่องใดที่ขอมา หากมีงบประมาณก็จะทำให้ แต่เรื่องใดที่ยังทำไม่ได้ ใช้งบประมาณสูง ยังไม่ผ่านขั้นตอนการศึกษา ก็จะบรรจุไว้ในแผนแม่บทเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ต่อไปรวมไปถึงด้านการท่องเที่ยว

ประกันราคา-จำนำยุ้งฉาง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในด้านการเกษตร ยังเป็นห่วงเกษตรกร เพราะเกษตรกรหลายกลุ่มยังไม่เข้าใจการมีส่วนร่วมในมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล เช่น การประกันราคาข้าว การจำนำไว้ในยุ้งฉางของ ธ.ก.ส. เกษตรกรหลายคนยังไม่ทราบว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้ได้อย่างไร จึงขอฝากสื่อให้ช่วยกันทำความเข้าใจว่าเกษตรกรสามารถเก็บข้าวไว้ในมาตรการจำนำยุ้งฉางจนกว่าจะได้ราคาที่เหมาะสมจึงค่อยนำออกมาขาย ในฤดูการผลิตต่อไปนี้ ขอให้ทุกคนเข้าใจว่ารัฐบาลจะมีการประกันราคาตามห่วงระยะเวลาที่มีอยู่ มีหลักเกณฑ์ประกันราคา 3 ปี ซึ่งประชาชนสามารถนำข้าวมาฝากไว้ที่ ธ.ก.ส.จนกว่าจะพอใจในราคาจึงค่อยนำออกมาขาย

ตีกลับบำเหน็จมือไม้คสช.

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์ว่า ครม.ยังไม่อนุมัติบำเหน็จประจำปี 2 ขั้น นอกเหนือโควตาปกติให้เจ้าหน้าที่ใน คสช.และคงต้องกลับไปดูใหม่ ไปดูเรื่องของความจำเป็นของการทำงาน และเรื่องของจำนวนคนที่เสนอมา 600นาย ที่ถือว่าลดลงมาเป็นลำดับจากปีแรกที่มี 1,000 คน แต่นายกฯบอกว่าควรลดได้มากกว่านี้ โดยให้ดูเท่าที่มีความจำเป็น ส่วนจะเสนอครม.กลับมาเมื่อไหร่นั้นไม่มีกำหนดตายตัว ไม่ต้องรีบเร่ง เพราะครอบคลุมเวลาตั้งแต่1ตุลาคม60 จนถึงวันที่30 กันยายน 61

สำนักข่าววิหคนิวส์