เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ทิวากร รอดคุก ! ศาลยกฟ้อง 112 ใส่เสื้อไม่ศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ แต่มีค้างอีกหลายคดี

#ทิวากร รอดคุก ! ศาลยกฟ้อง 112 ใส่เสื้อไม่ศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ แต่มีค้างอีกหลายคดี

29 September 2022
229   0

    ศาลจังหวัดขอนแก่น พิพากษายกฟ้องนายทิวากร วิถีตน ชายผู้สวมเสื้อมีข้อความเกี่ยวกับความศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์และถูกบังคับเข้าโรงพยาบาลจิตเวช เมื่อปี 2563 ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รวมทั้ง มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อเวลา 10.36 น.ว่า ศาลชี้ว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์กล่าวถึง “สถาบันกษัตริย์” ประกอบกับพยานโจทก์เบิกความว่าคำว่า “สถาบันกษัตริย์” นั้นหมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์  จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยหรือนายทิวากรหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

ทิวากร ถูกพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการสวมเสื้อที่มีข้อความเกี่ยวกับความศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำการชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร” ในช่วงเดือน ก.พ. 2564

เขาเบิกความต่อศาลเมื่อเดือน พ.ค. ว่า การสวมเสื้อที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของเขานั้น “เพียงต้องการใช้เสรีภาพแสดงออกขั้นพื้นฐาน…ไม่มีเจตนาล้อเลียนหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด”

ทิวากร อายุ 46 ปี เคยเป็นผู้ร่วมชุมนุมเสื้อแดงในเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2552-2553 ต่อมายุติการกิจกรรมทางการเมืองมาอยู่บ้านที่ จ. ขอนแก่น เขาเริ่มสวมเสื้อยืดที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หลังเกิดกรณี “อุ้มหาย” นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา เมื่อเดือน มิ.ย. 2563  โดยมักจะสวมใส่ในพื้นที่ชุมชนและโพสต์ภาพพร้อมข้อความลงบนเฟซบุ๊กของเขาที่ชื่อว่า “Tiwagorn Withiton”

หลังจากเริ่มปรากฏภาพของทิวากรบนโซเชียลมีเดีย ในวันที่ 9 ก.ค. 2563 ทิวากร ถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและตำรวจรวมกว่า 10 คน เข้าควบคุมตัวไปที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พร้อม ค้นบ้าน ยึดโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และเสื้อยืด และถูกฉีดยาบางชนิดที่ทำให้รู้สึกชา

ทิวากร ถูกนำตัวอยู่ใน รพ. ตั้งแต่วันที่ 9-22 ก.ค. 2563 โดยที่คณะแพทย์ ลงความเห็นว่าเขาไม่ได้ป่วยทางจิตเวชแต่อย่างใด

ทว่าทิวากร เปิดเผยในภายหลังว่า แม้ไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าป่วยจิตเวชและไม่ต้องกินยา แต่กลับถูกสั่งให้กินบางอย่างซึ่งทำให้มีอาการสะลึมสะลือ สมองไม่ปลอดโปร่ง ซึ่งเขาเชื่อว่าแพทย์เจ้าของไข้ได้รับคำสั่งจากผู้ที่มีอำนาจสูงกว่า

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกลางปี 2563 แต่ทิวากร ถูกตำรวจแจ้งความดำเนินคดี ในเดือน มี.ค. 2564 จากกรณีที่เขาโพสต์ข้อความเรื่องสถาบันกษัตริย์ การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำกลุ่ม “ราษฎร” ในช่วงเดือน ก.พ. 2564

แต่เมื่อถึงขั้นตอนการของยื่นฟ้องจากอัยการ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า อัยการ “ระบุการกระทำที่กล่าวหาต่างออกไปจากชั้นสอบสวน” โดยรวมถึงเหตุการณ์ที่ทิวากรโพสต์รูปตนเองสวมเสื้อสกรีนข้อความเกี่ยวกับความศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ และชวนประชาชนมาสวมเสื้อลักษณะเดียวกัน ระหว่างวันที่ 2 มิ.ย. 2563 – 27 ก.พ. 2564

4 วัน ในห้องพิจารณาคดี

คดีนี้มีการสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 24-27 พ.ค. 2565

ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งสิ้น 13 ปาก มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน ฝ่ายปกครอง อดีตอาจารย์คณะมนุษย์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบันทึกการสืบพยานไว้ว่า “พยานโจทก์เหล่านี้ส่วนใหญ่เห็นว่า ทิวากรโพสต์ถึงสถาบันกษัตริย์ มีบางปากเท่านั้นที่เห็นว่า ทิวากรมุ่งโพสต์ถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10”

แต่ทั้งสองกลุ่มเบิกความในทำนองเดียวกันว่า การระงับใช้มาตรา 112 หรือให้ประกันแกนนําทั้ง 4 คนนั้น เป็นอํานาจของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่อํานาจของกษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ และกษัตริย์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตามที่ทิวากรโพสต์

ส่วนการสวมเสื้อของทิวากรและเชิญชวนให้ผู้อื่นสวมด้วยนั้น มีเพียงพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนและอานนท์เบิกความถึง โดยทั้งสองเห็นว่า การที่ทิวากรโพสต์เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจจะมีบุคคลมาแสดงความคิดเห็นลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

ทั้งสองยังเห็นว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ที่ทิวากรโพสต์นั้น มีความหมายถึง รัชกาลที่ 10

ด้านพยานจำเลย มีทิวากรเข้าเบิกความเพียงคนเดียว ศูนย์ทนายฯ บันทึกว่า ทิวากร ยืนยันว่า ตนโพสต์ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 ข้อ โดยต้องการพูดถึงองค์กรคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งปกติหากเขาต้องการจะโพสต์ถึงพระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็จะระบุชื่อบุคคลนั้นโดยตรง

ส่วนการสวมเสื้อที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของเขานั้น “เพียงต้องการใช้เสรีภาพแสดงออกขั้นพื้นฐาน…ไม่มีเจตนาล้อเลียนหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด ตนใส่เสื้อดังกล่าวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้น” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ

STR/BBC

จากการสวมเสื้อยืด สู่โรงพยาบาลจิตเวช

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกว่า ทิวากร โพสต์ภาพตัวเองสวมเสื้อยืดสกรีนข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ พร้อมตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2563 ต่อมามี เจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) 2 นาย เข้าไปพบที่บ้านและพยายามโน้มน้าวให้เขาเลิกใส่เสื้อที่มีข้อความดังกล่าว

เขาอธิบายว่า “หมดศรัทธา ไม่ได้แปลว่า ‘ล้มเจ้า’ แต่คือความรู้สึกในใจในทำนองเดียวกับ ‘หมดรัก’, ‘หมดเยื่อใย’ ที่มนุษย์ทุกคนสามารถแสดงออกมาได้”

19 มิ.ย. 2563 เจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) 2 นาย เข้าไปสอบถามหาทิวากรกับแม่ วันต่อมา นอกเครื่องแบบอีกเกือบ 10 นาย ไปพบและพูดคุยโน้มน้าวทิวากรนานกว่า 1 ชม. ให้เขาเลิกใส่เสื้อสกรีนข้อความดังกล่าว กอ.รมน.ยังไปพบแม่และคุยทำนองนี้อีกเกือบทุกวันหลังจากนั้น

9 ก.ค. 2563 ทิวากร ถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและตำรวจรวมกว่า 10 คน เข้าควบคุมตัวไปที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พร้อม “ค้นบ้าน ยึดโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และเสื้อยืด ฉีดยา ให้กินยาจิตเวช” และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าที่อาคารผู้ป่วยใน รพ. ตลอดเวลา โดยไม่ให้ผู้ใดเยี่ยมนอกจากญาติ

ในช่วงเวลา 2-3 วันหลังจากถูกนำตัวไป รพ. เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจและกรมสุขภาพจิตล้วนปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลหรือรับทราบเรื่องนี้ และไม่มีความชัดเจนว่า เขาถูกลงความเห็นจากแพทย์ว่าป่วยด้วยโรคทางจิตเวชหรือไม่ ทั้งบริเวณตึกผู้ป่วยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ให้ผู้ใดเยี่ยมนอกจากญาติ