ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ถก 2 แนวทางขรก.ยื่นบัญชีทรัพย์สินทุก 3 ปี คกก.ปฏิรูปชงเพิ่ม “ขายหุ้น-ถูกหวย-ขายที่ได้” ก็ต้องแจ้ง

#ถก 2 แนวทางขรก.ยื่นบัญชีทรัพย์สินทุก 3 ปี คกก.ปฏิรูปชงเพิ่ม “ขายหุ้น-ถูกหวย-ขายที่ได้” ก็ต้องแจ้ง

7 December 2017
500   0

คกก.ปฏิรูป เผยคนไทยอยากปราบทุจริตด้วยตัวเอง โดยให้รัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน เผยกรมศุลกากรให้ ขรก.ยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถ.พิษณุโลก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ โฆษกฯ และ ดร.อุทิศ ขาวเธียร กรรมการฯ ร่วมกันแถลงผลการรับความคิดเห็นของประชาชน 4 ภูมิภาค ประมาณ 1,000 คน ก่อนทำแผนเสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนวันที่ 24 ธันวาคมว่า กลุ่มเป้าหมายในการรับฟังความเห็นประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ นักการเมือง นักการเมืองท้องถิ่น องค์กรตรวจสอบ ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน โดยในด้านสภาพปัญหาและอุปสรรค พบว่า

1.ปัญหาการปฏิรูปที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากระบบปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานของรัฐ ที่มุ่งเน้นกำกับควบคุมมากกว่าการส่งเสริมแนวทางการดำเนินงานที่สุจริตที่แท้จริง โดยเจ้าหน้าที่พนักงานผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งอาจหวังผลตอบแทนจากการมุ่งเอาเปรียบของผู้ประกอบการในวงการต่างๆ ตลอดจนการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนของเจ้าพนักงานของรัฐ/เจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ซึ่งการทุจริตมีผลกระทบโดยตรงต่อการใช้งบประมาณโดยสิ้นเปลือง

2.การแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศไทยที่ผ่านมา มิได้มีผลต่อการลดปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากการรับฟังความคิดเห็นฯ พบว่า แนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันต้องอาศัยการรวมตัวเพื่อสร้างบทบาทและอำนาจการต่อต้านการทุจริตฯ อย่างมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคม โดยประชาชนคนไทยต้องการทวงคืนอำนาจ บทบาทและการจัดการร่วมกันตรวจสอบ
นายปานเทพกล่าวว่า

สำหรับข้อเสนอแนะในการปฏิรูป พบว่ามีแนวทางในการดำเนินการ

1.เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้เป็นแกนกลางในการเสนอแนะติดตาม ตรวจสอบ และต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ โดยรัฐต้องเร่งรัดออกกฎหมายรองรับการทำงานของเครือข่ายประชาชนภายใน 1 ปี ให้เป็นกฎหมายที่มุ่งให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจและบทบาทปฏิบัติต่อต้านและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ รัฐต้องให้ความคุ้มครองและป้องกันการถูก กลั่นแกล้ง หรือได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในลักษณะต่างๆ

2.เครือข่ายตรวจสอบของภาคีประชาชนต้องได้รับบทบาทและมีอำนาจในการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลอย่างแท้จริง

3.ต้องเน้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง รวดเร็ว เด็ดขาด เท่าเทียมและเป็นธรรม

4.ต้องปฏิรูปการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ ให้มีการทำงานแบบ บูรณาการในทุกระดับหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อน สร้างความเป็นเอกภาพ ตลอดทั้งมีการบูรณาการหน่วยงานตรวจสอบ

5.บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ ต้องมีความรับผิดชอบต่อกรณีการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาโดยตรง โดยมีการลงโทษให้พ้นไปจากตำแหน่ง เมื่อมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีพฤติกรรมการทุจริตในหน่วยที่ทำหน้าที่

6.ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ในหลายช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เช่น การดำเนินงานนโยบายของรัฐบาล การจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลด้านงบประมาณ และการจัดทำงบประมาณ รวมถึงข้อมูลการใช้ดุลยพินิจในงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมกำกับ ดูแล และอนุมัติโครงการต่างๆ

7.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับต้องรายงานผลการใช้งบประมาณทุกด้านที่ถูกจัดสรร แก่จังหวัดและองค์กรที่รับผิดชอบให้ประชาชนได้รับทราบและร่วมตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณฯ ในทุกโครงการ

8.เน้นยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีการปรับทัศนคติ ส่งเสริมให้มีการปลูกฝังเพื่อหล่อหลอมคุณธรรมจริยธรรม ตั้งแต่เยาว์วัยและตลอดจนทุกช่วงของชีวิตให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน โดยผ่านทั้งกระบวนการการเรียนการสอน และกระบวนการทางสังคม เพื่อสร้างจิตสำนึกให้มีค่านิยม และทัศนคติที่ถูกต้อง

“เรามั่นใจว่าการปฏิรูปจะได้ผล วันนี้เราเห็นทิศทางประเทศมีความหวัง เพราะประชาชนให้ความสนใจ และตื่นตัวมากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ การแก้ปัญหาการทุจริตหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ข้อเสนอของประชาชนทั้งหมด” นายปานเทพกล่าว

ด้าน พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวถึงมาตรการที่จะให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินว่า เรื่องดังกล่าวตามกฎหมาย ป.ป.ช.มี 2 ส่วน โดยเรื่องการให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินโดยสรุปนั้น เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.จะต้องไปพิจารณา ซึ่งก็จะมีการปกปิดข้อมูลแค่บางส่วน แต่ประชาชนยังสามารถเข้าถึงได้ ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการ ก็จะมีการยื่นไปเก็บข้อมูลในสมุดประวัติของข้าราชการแต่ละคน โดยขณะนี้กรมศุลกากรได้เริ่มนำร่องให้เจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญที่เสี่ยงที่จะมีการทุจริตกว่า 1,000 คน ยื่นบัญชีทรัพย์สินเก็บไว้ในสมุดประวัติแล้ว ทั้งนี้ก็เชื่อว่าต่อไปความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐจะมีมากขึ้นจากการยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งที่เปิดเผยตามกฎหมายและที่เก็บเป็นความลับ ส่วนรายละเอียดในการยื่นจะมีรูปแบบคล้ายกับที่ ป.ป.ช.เคยดำเนินการ แต่อาจจะไม่ต้องมีการแจกแจงรายละเอียดมาก โดยระยะเวลายื่นยังมีความคิด 2 แนวทาง โดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มองว่าต้องยื่นทุก 3 ปี แต่ทางคณะกรรมการปฏิรูปฯคิดว่า หากข้าราชการแต่ละคนมีฐานะที่เปลี่ยนแปลงจะต้องมีการยื่นเพิ่มเติมเรื่อยๆ อาทิ ขายที่ดินได้ ขายหุ้นได้ ถูกล๊อตเตอร์รี่ ซึ่งแสดงว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องแจ้ง และจะมีการเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทิ้งของเก่า และพอมีเรื่องร้องเรียนก็สามารถนำข้อมูลมาตรวจสอบได้ ทั้งนี้หากข้าราชการไม่ดำเนินการก็จะถือว่ามีความผิดวินัย ส่วนเรื่องฐานความผิดก็จะต้องดูเจตนาว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นการสร้างจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเมื่อมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นก็จะต้องชี้แจงต่อสังคมว่าได้มาอย่างไร

สำนักข่าววิหคนิวส์