มีชัย ระบุ ให้อำนาจ ป.ป.ช.ดักฟังเป็นการละเมิดสิทธิ ได้ผลร้ายมากกว่าประโยชน์ คนได้อำนาจสนุกจะจับโจรคนเดียวเข้าถึงข้อมูลได้เป็นร้อย
ตรงประเด็น-นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการ
ทุจริต สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สามารถสืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และประชาชน ผ่านอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด ว่า หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่ โอกาสที่ประชาชนจะเดือดร้อนมีมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ แม้กฎหมายจะยกให้อำนาจของศาลในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ศาลก็ฟังเหตุผลเพียงเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ข้างเดียวเท่านั้น ถ้าศาลเชื่อเท่ากับว่า ป.ป.ช.จะมีอำนาจถึง 90 วัน จะจับผู้ร้ายคนเดียว แต่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ดักฟังโทรศัพท์ ดูอีเมล์ได้เป็นร้อยคน หากมีข้อสงสัยว่า เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับอำนาจก็สนุกดี แต่คนถูกละเมิดมันไม่สนุกด้วย ส่วนจะเป็นการให้อำนาจซ้ำซ้อนกันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอยู่หรือไม่นั้น ตนคิดว่า มันไม่ซ้ำซ้อน แต่เท่ากับว่า ประชาชนอยู่ตรงกลาง โดยที่ทุกหน่วยงานมีอาวุธกันหมด ถ้าเช่นนี้ประชาชนก็อยู่ลำบาก และถ้าจะอ้างว่า ป.ป.ช.ควรมีอำนาจเหนือกว่าดีเอสไอตามศักดิ์กฎหมายลูก จะคิดแบบนั้นก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กรธ.ยังพูดตอนนี้ไม่ได้ว่า จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ เพราะต้องให้รอการพิจารณาในชั้น สนช.ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน
นายมีชัย กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 แก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อขยายเวลาให้พรรคทำงานธุรการ เพียงพอหรือไม่ ว่า พูดไม่ได้ เชื่อว่า จะแก้ไขเท่าที่จำเป็น ส่วนการแก้โดย สนช. นั้น บอกไม่ได้ว่าเหมาะหรือไม่ แต่เวลา 3 เดือนไม่น่าจะทัน ใช้มาตรา 44 น่าจะทันกว่า ส่วนจะกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งหรือไม่ นายกระบุไว้ชัดเจนแล้ว
สำนักข่าววิหคนิวส์