เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ดร.เทอดศักดิ์ เปิดไต๋ ! เซอร์ไพรส์เริ่มต้นแดนศิวิไลซ์ขั้นแรกแล้ว

#ดร.เทอดศักดิ์ เปิดไต๋ ! เซอร์ไพรส์เริ่มต้นแดนศิวิไลซ์ขั้นแรกแล้ว

5 November 2019
2912   0

ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ การเมืองการปกครอง ได้โพสข้อความระบุว่า

การเริ่มต้นแดนศิวิไลซ์ หรือการปฏิรูปประเทศ (thailand reform) ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ 12 มีนาคม 2553 ณ บ้านไทยร่มเย็น จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ดำเนิการไปแล้วหลายประการ โดยเฉพาะการตั้งองค์กรอิสระ ที่สร้างสมดุลเชิงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน จนมีประชาชนนับสิบล้านคนออกมาชุมนุมสนับสนุน ตั้งแต่ปี 2556-2557 เป็นต้นมา เพลานี้จึงควรเริ่มต้นเข้าสู่การปฎิรูปประเทศในขั้นตอนต่อไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ เข้าสู่ยุคใหม่ ในรัชกาลใหม่ หากย้อนดูประวัติศาสตร์เชิงสัญลักษณ์ ที่มาของเพลงชาติไืทย

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้มีการใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงถวายความเคารพองค์พระมหากษัตริย์ตามธรรมเนียมสากล แม้เพลงดังกล่าวไม่ใช่เพลงชาติของประเทศสยามอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็ถืออนุโลมว่าเป็นเพลงชาติโดยพฤตินัยตามหลักดังกล่าว เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นเพลงชาติอยู่ 7 วัน (ใช้ชั่วคราว ระหว่างรอพระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติใหม่) แต่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี

เพลงชาติไทย เป็นชื่อเพลงชาติของสยามและประเทศไทย ประพันธ์ทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 คำร้องฉบับแรกสุดโดยขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งแต่งขึ้นภายหลังในปีเดียวกัน ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อร้องอีกหลายครั้งและได้เปลี่ยนมาใช้เนื้อร้องฉบับปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2482

คณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติมีความเห็นให้ใช้ทำนองเพลงซึ่งประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์เป็นทำนองเพลงชาติแบบสากล สำหรับบทร้องนั้นได้คัดเลือกบทร้องของขุนวิจิตรมาตราซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นบทร้องชนะเลิศ และได้เพิ่มบทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นบทร้องที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเข้าอีกชุดหนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้ประกาศรับรองให้เป็นบทร้องเพลงชาติฉบับราชการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477

บทร้องทั้งของขุนวิจิตรมาตราและนายฉันท์ ประพันธ์ในรูปฉันทลักษณ์แบบกลอนสุภาพ (กลอนแปด) ความยาว 4 บท แต่ละบทมี 4 วรรค ผลงานของแต่ละคนจึงมีความยาวของบทร้องเป็น 16 วรรค เมื่อนำมารวมกันแล้วจึงทำให้บทร้องเพลงชาติทั้งหมดมีความยาวถึง 32 วรรค ซึ่งนับว่ายาวมาก หากจะร้องเพลงชาติให้ครบทั้งสี่บทจะต้องใช้เวลาร้องถึง 3 นาที 52 วินาที (เฉลี่ยแต่ละท่อนรวมดนตรีนำด้วยทั้งเพลงตกที่ท่อนละ 35 วินาที) ในสมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมร้องแต่เฉพาะบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา และต่อมาภายหลังจึงไม่มีการขับร้อง คงเหลือแต่เพียงทำนองเพลงบรรเลงเท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2482 “ประเทศสยาม” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ประเทศไทย” รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า “ไทย” ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน) ระเบียบดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดให้แบ่งการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติออกเป็น 2 แบบ คือ การบรรเลงแบบพิสดาร (บรรเลงตามความยาวปกติเต็มเพลง) และการบรรเลงแบบสังเขป ในกรณีของเพลงชาตินั้น ได้กำหนดให้บรรเลงเพลงชาติฉบับสังเขปในการพิธีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สโมสรสันนิบาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีปกติ ส่วนการบรรเลงแบบเต็มเพลงนั้นให้ใช้ในงานพิธีใหญ่เท่านั้น

ท่อนของเพลงชาติที่ตัดมาใช้บรรเลงแบบสังเขปนั้น คือท่อนขึ้นต้น (Introduction) ของเพลงชาติ (เทียบกับเนื้อร้องเพลงชาติฉบับปัจจุบันก็คือตั้งแต่ท่อน สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี จนจบเพลง) ความยาวประมาณ 10 วินาที ไม่มีการขับร้องใดๆ ประกอบ

จะเห็นได้ว่าหลักสำคัญคือการปฏืรูปประเทศ จะมีหลักสำคัญคือ ดนตรี กวี ศืลปะ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ของการปกครอง คณะราษฏรที่ใช้กำลังทหาร ยึดอำนาจเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ยามย่ำรุ่ง ที่ถือฤกษ์ 06.00 น. โจโลฤกษ์ ณ พระบรมรูปทรงม้า จับกุมพระบรมวงศานุวงค์เป็นตัวประกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม บีบบังคับให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยอ้างประชาธิปไตย ที่ถือว่าเป็นเผด็จการทหารอย่างแท้จริง ปัจจุบันคณะราษฎรได้สิ้นอำนาจไปนานแล้ว แต่ยังทิ้งมรดกความขัดแย้งเชิงสัญลักษณ์ เช่น เพลงชาติ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ชื่อถนนหนทาง สนามศุภชลาศัย เป็นต้น เพื่อเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ เข้าสู่การปฏิรูปประเทศอย่างสมบูรณ์ จึงควรเปลี่ยนแปลงชาติในยกแรกด้วยการนำ

บทเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด อันเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514 เมื่อ พ.ศ. 2512 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บท

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” ใน พ.ศ. 2514 ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

“ข้าพเจ้าค่อย ๆ คิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน ๕ บท ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทาน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะ บ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ ที่มีเนื้อหากินใจ ไพเราะ ทันยุคทันต่อสมัย เป็นสากล จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อเพลงว่า ”ความฝันอันสูงสุด” ดังที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์รู้จักกันแพร่หลายทุกวันนี้ นับเป็น เพลงพระราชนิพนธ์แรกที่ได้ทรงจากคำร้อง ให้นำมาเป็นเพลงชาติไทย เพื่อเป็นการยกย่องพระเกียรติของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันเป็นการเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศ (thailand reform)ในลำดับแรก อันเป็นสัญลักษณ์สู่การเริ่มต้นสู่แดนศิวิไลซ์

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ                        ขอสู่ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว                                            ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง                     จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด                                               จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง                 จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา                                       ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร
ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา                       ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา                                  ไม่เสียหายชีวาถ้าสิ้นไป
นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง                                 หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส                                          ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด
ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน                          โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่                                         เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ                             ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย

ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา
5 พฤศจิกายน 2562

อ้างอิง

* เพลงสำคัญของแผ่นดิน จากเว็บไซต์ กรมประชาสัมพันธ์ (Archives)
* ประวัติเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน
* เพลงชาติ : พลวัตสังคมไทย โดย สุชาติ แสงทอง
* คอร์ดเพลงชาติไทย – คอร์ดเพลง เนื้อเพลง
* ไฟล์เสียงเพลงชาติไทย
* หนังสือดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจของปวงชน. ปีที่พิมพ์ 2539