เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ค่าแรงขึ้นแล้ว ! ครม.ขึ้นสูงสุด 328-356 บาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้

#ค่าแรงขึ้นแล้ว ! ครม.ขึ้นสูงสุด 328-356 บาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้

13 September 2022
210   0

  เมื่อวันที่ 13 ก.ย.65 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการกำหนดอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5.02% โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป

สำหรับการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้าง เห็นชอบผลปรับ ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 แบ่งเป็น 9 อัตรา ชลบุรี ระยอง ภูเก็ตขึ้นสูงสุด 354 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี ปรับขึ้น 328 บาท ส่วนกรุงเทพและปริมณฑล อยู่ที่ 353 บาท

ทั้งนี้ตามมติของ คณะกรรมการค่าจ้าง กำหนดการปรับ ค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565 มีรายละเอียดแยกเป็นอัตราต่าง ๆ ดังนี้

ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต
ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก

ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร
ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

การเมือง/ทำเนียบ/13 ก.ย.
แางวานเฮ “สุชาติ” ยัน เสียงไตรภาคีเอกฉันท์ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วปท. 9 กลุ่ม หลังอั้นโควิด 2 ปี หวังช่วยพยุงค่าครองชีพช่วงเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขึ้น

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเสนอตามติของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและปลัดกระทรวง โดยที่ประชุมครม.อนุมัติเห็นชอบ และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ถือเป็นความเห็นชอบของไตรภาคีที่เป็นเอกฉันท์ ไม่ได้ลงมติหรือโหวตกัน แต่เป็นการคุยกันแบบลงตัว

สำหรับสัดส่วนการปรับขึ้นอยู่ที่ 5-8 เปอร์เซ็นต์ โดยภาพรวมปรับอยู่ที่กว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องยอมรับว่าช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงเลย โดยปรับค่าแรงขั้นต่ำล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2563 ผ่านมา 2 ปีจึงรวบยอดปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ

นายสุชาติ กล่าวว่า หลายคนอาจมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ ซึ่งตนได้คุยกับนายจ้างแล้ว ถือเป็นการประคับประคองลูกจ้างให้อยู่รอด นี่คือสิ่งที่นายจ้างต้องการ เห็นลูกจ้างมีรายได้ มีเงินพยุงค่าครองชีพ และสัดส่วนที่ขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์นายจ้างรับได้ ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่โอเวอร์มาก หากลูกจ้างอยู่รอด นายจ้างก็อยู่รอด ส่วนการปรับดอกเบี้ยตามภาวะเงินเฟ้อหรือทั่วโลกที่ปรับนั้น รมว.คลังจะควบคุมและกำกับส่วนนี้ ขณะที่ด้านพลังงานรองนายกฯ และรมว.พลังงานจะมีมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือ

“ขอเรียนประชาชนว่า การขึ้นค่าแรงเป็นไปตามกลไก ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยหรือราคาพลังงาน รัฐบาลได้แก้ปัญหาโดยการลดค่าครองชีพที่มาช่วยกัน และสาเหตุที่ผมขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 ต.ค.นี้เลย เพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ของมันขึ้นราคาไปรออยู่แล้ว ถ้าเราไปประกาศในวันที่ 1 ม.ค. 2566 สินค้าก็จะขึ้นต่ออีกรอบ ดังนั้นต้องขึ้นค่าแรงเลย เพื่อเป็นการสกัดการขึ้นสินค้าที่รอล่วงหน้า ผมได้ขอให้ทางกองทุนประกันสังคมช่วยเหลือนายจ้างในส่วนตรงนี้ 2-3 เดือน และที่หลายท่านมองว่า การลดเงินสมทบที่ผ่านมาทำให้มีผลกระทบต่อเงินชราภาพจริงๆ แล้วไม่มี เพราะเราได้ใช้มติครม.โยกเงินอีกกองมาเติมผลตอบแทนเงินชราภาพ ทั้งนี้ผมได้ให้ประกันสังคมทำเรื่องชี้แจงว่า การลดเงินสมทบไม่มีผลกับประชาชนในมาตรา 33 ต่อการชราภาพไม่เกี่ยวกัน” รมว.แรงงาน กล่าว

“การขึ้นค่าแรงรอบนี้เป็นการขึ้นทั้งประเทศ 9 กลุ่ม โดยปรับขึ้นอันดับ 1 คือ ภูเก็ต ชลบุรี ระยองจำนวน 354 บาท กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 353 บาท โดยสรุปปรับขึ้น 18 บาท ไม่ได้ขึ้น 1-2 บาทแบบเมื่อก่อน การปรับขึ้นต้องให้เห็นภาพและสามารถชดเชยกับภาวะเงินเฟ้อได้”นายสุชาติ กล่าวว

เมื่อถามว่า ภาคการผลิตรับได้ใช่หรือไม่ เพราะอาจมีผลกระทบถึงขั้นย้ายฐานการผลิต นายสุชาติ กล่าวว่า ตนได้โทรศัพท์คุยกับประธานคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งก็รับได้ในส่วนนี้ แต่ท่านขอในเรื่องของพลังงาน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งจริงๆแล้ว รัฐบาลได้ดูแลในส่วนของพลังงาน ทั้งการชดเชยและการอุดหนุนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่านายจ้างรับได้กับการขึ้นค่าแรง หากไม่มีการขึ้นค่าแรงและลูกจ้างต้องแบกภาวะเงินเฟ้อ หรือของที่แพงขึ้น ลูกจ้างจะอยู่ไม่ได้ นายจ้างก็ต้องหาลูกจ้างใหม่ต้องสอนงานใหม่ ในฐานรมว.แรงงาน ไม่ได้คิดต้องมานั่งไล่ตามการขึ้นค่าแรง แต่คิดจะลดค่าครองชีพพี่น้องแรงงานอย่างไรจะดีกว่า และวันนี้ขอให้พี่น้องแรงงานมีคามสุขกับมติครม.ที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ