กองปราบ นำตัว เจ๊กุ้ง พยานปากสำคัญในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์สอบ ขณะ จเรตำรวจ ยังไม่ตั้งกก.สอบพล.ต.ต.สุทธิ รอป.สรุปคดีหวย 30 ล้าน
inn-ความคืบหน้าคดีหวย 30 ล้านบาท ล่าสุดรายงานข่าวระบุว่า เมื่อช่วงเย็นของเมื่อวานที่ผ่านมาตำรวจกองปราบปรามนำตัว นางดุษดี ถิ่นทุ่งทอง หรือ เจ๊กุ้ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศาล มาสอบปากคำประกอบสำนวนที่กองปราบปราม โดยสาเหตุที่นำนางดุษดี มาสอบปากคำนั้น เนื่องจากตำรวจภูธรภาค 7 ได้ระบุในสำนวนว่า นางดุษดี เป็นผู้เห็นลอตเตอรี่เลขท้าย 726 โผล่ออกมาจากกระเป๋าเสื้อของครูปรีชา ทำให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามต้องนำตัวมาสอบปากคำว่าสอดคล้องกับสำนวนเดิมหรือไม่ กระทั่งเวลาประมาณ 23.00 น. นางดุษดี จึงได้เดินลงมาจากกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม และขึ้นรถยนต์ส่วนตัวขับออกไป
ทั้งนี้ สำนวนที่กองปราบปรามดำเนินการอยู่ในขณะนี้มี 2 คดี ได้แก่ คดีที่ครูปรีชา ใคร่ครวญ แจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์แก่ร.ต.ท.จรูญ กับ และอีกคดีเป็น คดีที่ร.ต.ท.จรูญแจ้งความดำเนินคดีกับครูปรีชา ในข้อหาแจ้งความเท็จ เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับโทษทางอาญา โดยในส่วนของสำนวนคดีที่1 นั้น ตำรวจภูธรภาค 7 รวบรวมหลักฐานประกอบทำสำนวนไว้เสร็จแล้ว คงเหลือแต่สำนวนคดีที่ 2. ที่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งทางกองปราบอยู่ระหว่างเร่งสอบปากคำและรวมรวมหลักฐานให้สำนวนแล้วเสร็จให้ทัน ก่อนจะแถลงความคืบหน้าคดีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้
จเรตำรวจ ยังไม่ตั้งกก.สอบพล.ต.ต.สุทธิ รอป.สรุปคดีหวย 30 ล้าน
พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ เปิดเผย ถึงการตั้งกรรมการสอบสวน พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี หลังมีคำสั่งให้มาช่วยรายการที่ ศปก.ตร. ว่าจนถึงขณะนี้ ตัวเองยังไม่ได้รับการติดต่อหลังทำหนังสือขอเลื่อนการเข้ารายงานตัว ซึ่งในหนังสือสามารถเลื่อนได้จนถึงวันพรุ่งนี้ ส่วนที่มีการถูกสั่งย้ายให้มาช่วยราชการ และขาดจากตำแหน่งเดิม ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายจากตำแหน่งเก่าได้หรือไม่นั้น จเรตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการไปปฏิบัติราชการก่อนที่จะมีคำสั่งช่วยราชการออกมา และเป็นการไปอบรมตามหลักสูตรไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ แต่ต้องมีหนังสือขออนุญาตเป็นรายลักษณ์อักษรและตัวเองได้พิจารณาพร้อมอนุมัติตามที่ขอเลื่อนด้วยตัวเอง
ขณะที่การตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัย พล.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอผลการสอบสวนจาก กองปราบปราม , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่จะสรุปว่าคดีนี้มีใครที่ร่วมกระทำความผิดบ้าง ทั้งประชาชนหรือข้าราชการตำรวจ แต่หากมีตำรวจด้วยก็ต้องเสนอกองวินัยในการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะกรรมการเอาผิด พร้อมแยกเรื่องนี้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นความผิดทางอาญา ก็ต้องร้องทุกข์ที่กองปราบปราม หรือส่งเรื่องให้กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปป.) หรือส่งพื้นที่ดำเนินคดี
ส่วนอีกส่วนคือไม่เข้าข่ายคดีอาญาเเต่เป็นความผิดทางวินัย ก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการเอาผิด พร้อมยืนยันว่าขณะนี้พบนายตำรวจท่านนี้มีความผิดเข้าข่ายแล้ว แต่ที่ยังไม่ตั้งกรรมการสอบสวน เพราะต้องรอผลสรุปจากสอบสวนกลางก่อน
สำนักข่าววิหคนิวส์