ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #คำชี้แจงนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’ เทียบ คดีรถโฟล์ค ‘สุพจน์’

#คำชี้แจงนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’ เทียบ คดีรถโฟล์ค ‘สุพจน์’

21 December 2017
927   0

พลิกคำวินิจฉัยศาลฎีกาฯคดี รถโฟล์ค‘สุพจน์ ทรัพย์ล้อม’ อ้างเป็นของนักธุรกิจ แต่เจ้าตัว-เมียใช้งาน เทียบเคียงปมนาฬิกาหรู ‘บิ๊กป้อม’ 3 แนวทางคำชี้แจง (ถ้า) อ้างยืมเพื่อนคนรู้ใจใกล้ชิดมาใส่ ฟังขึ้นหรือไม่ ?

สำนักข่าวอิศรา – ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวมใส่นาฬิกาหรู และแหวนเพชร คาดว่ามีมูลค่านับล้านบาทซึ่งไม่ปรากฎในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่เจ้าตัวยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2557 และ 3 ครั้งก่อนหน้านี้ (2551,2554 และ 2555)

ขณะเดียวกัน ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า กรณีพล.อ.ประวิตร มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 30.5 ล้านบาท (เงินฝากเพิ่มขึ้น 27.9 ล้านบาท) หากนับจากจำนวนทรัพย์สินที่ปรากฎในบัญชีฯกรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุคแรกเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2551- ครั้งล่าสุด 4 ก.ย.2557 เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร? เนื่องจากหากคำนวณ ‘รายได้’เงินเดือน บำเหน็จบำนาญ ตามที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.รวม 6 ปี ประมาณ 12 ล้านบาท เท่านั้น (อ่านประกอบ : ถ้า ‘บิ๊กป้อม’ มีรายได้ปีละ 2 ล. เงินอีก 18 ล. มาจากไหน?)

อย่างไรก็ตาม กรณีนาฬิกาหรู ที่ไม่มีในบัญชีฯ ป.ป.ช.นั้น มีแนวทางการชี้แจง อย่างน้อย 3 แนวทาง 

1.เป็นทรัพย์สินของตนเอง ได้มาในช่วงก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 4 ก.ย.2557 แต่หลงลืม อาทิ เป็นเหตุการณ์ฉุกละหุกในการเข้ารับตำแหน่งหลังรัฐประหาร เมื่อปรากฎเป็นข่าว จะยื่นเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช.ต่อไป

2.เป็นทรัพย์สินของตนเอง แต่ได้มา (ซื้อเอง,คนรู้ใจใกล้ชิด,ญาติพี่น้องให้) ในช่วงหลังการยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 4 ก.ย.2557 ไปแล้ว ( กฎหมาย ป.ป.ช.ให้ยื่นภายใน 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง) จะยื่นต่อ ป.ป.ช.ตอนพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

3.เป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่น อาทิ คนรู้ใจใกล้ชิด ญาติพี่น้อง เพื่อนรักให้ยืมมาสวมใส่ เมื่อปรากฎเป็นข่าวก็คืนให้เจ้าของแล้ว ฉะนั้น จึงไม่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช.

ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ว่ากรณีใด ป.ป.ช. จะต้องเรียกนาฬิกามาตรวจสอบ (ดูของจริง) ที่มาของนาฬิกาเรือนนั้น อาทิ หลักฐานการซื้อขาย การจ่ายเงิน สอบสวนพยานบุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง เป็นต้น

ถ้าดูจากทั้ง 3 แนวทาง ดูเหมือนว่า แนวทางที่ 1 กับที่ 2 จะเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร เพราะจะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียด อาจสาวไปถึงหลักฐานทางการเงินในการซื้อขาย การตรวจสอบบัญชีธนาคาร เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรยื่น บัญชีฯ ป.ป.ช.ว่าไม่มีเงินสด

แต่ถ้าชี้แจงตามแนวทางที่ 3 คือเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่น อาทิ คนรู้ใจใกล้ชิด ญาติพี่น้อง เพื่อนรักให้ยืมมาสวมใส่ เมื่อปรากฎเป็นข่าวก็คืนให้เจ้าของแล้ว จึงไม่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. ในแนวทางนี้ ถ้าอ้างว่าตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของ เป็นของคนอื่น มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเท็จ กรณีซุกเงินสด 17.5 ล้านบาท (คราวโจรปล้นบ้าน) และ รถยนต์ตู้โฟล์ค ราคา 3 ล้านบาท (คดีหมายเลขแดงที่ อม. 210/2560-วันที่ 26 ก.ย. 2560)

กรณีรถตู้โฟล์คคันนี้ มาจากเหตุการณ์มีกลุ่มคนร้ายเข้าไปปล้นบ้านนายสุพจน์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2554 โดยมีข่าวว่าโจรได้เงินไปหลายร้อยล้านบาท ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับพบรถยนต์จอดอยู่ในบ้านนายสุพจน์ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2554

ในการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ นายสุพจน์อ้างว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว แต่เป็นของนายเอนก จงเสถียร เจ้าของบริษัทเอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟิล์มถนอมอาหารในนาม เอ็ม แรป ซึ่งนายเอนกซื้อและ นำไปให้ นางนฤมล ทรัพย์ล้อม ภรรยานายสุพจน์ใช้ในงานเกี่ยวกับเด็กและศาสนา เพื่อตอบแทนที่ นางนฤมล วางระบบงานบุคคลให้บริษัทของ นายเอนก และอ้างอีกว่า นำรถไปมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีใช้งาน

แต่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ารถยนต์คันดังกล่าว แม้ชื่อนายเอนกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่นายสุพจน์และภรรยาเป็นผู้ใช้งาน ศาลฎีกาฯพบพิรุธในคำเบิกความหลายประการ อาทิ หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 เมียนายสุพจน์เป็นคนสั่งให้นายสุพจน์ขอ เพื่อให้ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของลูกสาวหมายเลข จท 8822 ที่มีอยู่ในบ้าน

คำเบิกความของพระเทพปฏิภาณกวี เบิกความว่า การใช้รถจะออกค่าใช้จ่ายแต่เฉพาะค่าน้ำมันเท่านั้น ส่วนค่าบำรุงรักษา ตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ค่าต่อกรมธรรม์ประกันภัย และภาษีประจำปีไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เท่ากับเป็นการให้ยืมใช้เพียงชั่วคราวมิใช่เป็นการมอบกรรมสิทธิ์

ศาลฏีกาฯวินิจฉัยว่า

“แม้จะพยายามยืนยันว่ารถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร นายเอนก เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม ซึ่งคณะอนุกรรมการของผู้ร้อง (ป.ป.ช.) เสียงข้างน้อย มีความเห็นว่าตามคู่มือจดทะเบียนรถมีชื่อ นายเอนก เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านไม่แสดง ว่าตนเป็นเจ้าของรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาจะปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึงไม่มีความผิด ในส่วนนี้แต่อย่างใด นั้น

เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 17/1 จะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของรถยนต์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาหมายเหตุใน การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว ก็ได้ความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มรูปแบบทางธุรกิจจากการเช่าซื้อรถยนต์ โดยสามารถนำรถยนต์ไปจำนองได้เพื่อมิให้ประชาชนต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนรถยนต์ หลายทอดโดยไม่จำเป็น ทั้งผู้รับจำนองยังมีบุริมสิทธิในรถยนต์ด้วย และตามมาตรา 4 บัญญัติว่า เจ้าของรถ หมายความรวมถึงผู้มีรถไว้ในครอบครองด้วย ประกอบกับเมื่อรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์โดยมีข้อเท็จจริง ที่รู้กันทั่วไปว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อาจไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงก็เป็นได้ จึงเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 17/1 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์จะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เสมอไป ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในรถยนต์หรือไม่ ย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์ในการซื้อ การครอบครอง รวมถึงการใช้รถยนต์ด้วย ในส่วนของพฤติการณ์ในการครอบครองและใช้รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ยังคงได้ความตรงกันในสาระสำคัญว่าอยู่ในความครอบครองของผู้คัดค้าน กระทั่งเกิดเหตุปล้นทรัพย์และอนุกรรมการไต่สวนผู้ร้องไปตรวจบ้านเกิดเหตุก็พบรถยนต์คันดังกล่าวในบ้าน ของผู้คัดค้าน

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เป็นทรัพย์สิน ของผู้คัดค้านที่อยู่ในชื่อบุคคลอื่น โดยมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีครอบครองดูแลเพียงชั่วคราว จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่มีอยู่จริงในเวลาที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

เมื่อรถยนต์โฟล์คสวาเก้นเป็นของผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่แสดงทรัพย์สินในบัญชีทรัพย์สินต่อผู้ร้อง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะให้ผู้ร้องได้ตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินของผู้คัดค้าน การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการจงใจยื่นบัญชีฯเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ (อ่านประกอบ:เปิดที่มา‘รถโฟล์ค’ 3 ล.ฉบับ‘สุพจน์’ โยงเมีย นักธุรกิจ – ศาลชี้ปมเอกชนได้งานการท่าฯ)

นี่คือแนวทางคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯคดีนายสุพจน์ซุกรถโฟล์ค

กรณีนาฬิกาหรูและแหวนเพชร หาก พล.อ.ประวิตรใช้แนวทางยืมคนอื่นมา  จะคล้ายกับกรณีรถโฟล์คของนายสุพจน์ที่อ้างว่าเป็นของนายเอนก หรือไม่?

ส่วนจะรับฟังได้หรือไม่ มีตัวอย่างมาแล้ว?  และ อย่าลืมว่า นายสุพจน์ ถูก ป.ป.ช.ไต่สวนข้อกล่าวหารับสิบบน (รถโฟล์ค) อีกคดีด้วย 

ส่วนกรณีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น 30.5 ล้าน เป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และ ป.ป.ช.

ติดตามข้อเท็จจริงกันต่อไป

สำนักข่าววิหคนิวส์