ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #ของจริงมาแล้ว..!! ดร.ศุภชัย ชี้โลกเปลี่ยน การค้าเปลี่ยน ไทยต้องปฏิรูปประเทศ

#ของจริงมาแล้ว..!! ดร.ศุภชัย ชี้โลกเปลี่ยน การค้าเปลี่ยน ไทยต้องปฏิรูปประเทศ

27 May 2017
1200   0

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) 


ล่าสุดเข้าประจำการที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ในฐานะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะที่เคยเปลี่ยนแปลงโลก “ดร.ศุภชัย” ร่วมออกแบบเปลี่ยนประเทศไทย
– ยุทธศาสตร์ชาติรับโลกเปลี่ยนเร็ว-แรง 
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาคน ภายในระยะเวลา 20 ปี จะเป็นการสร้าง Generation ใหม่ต่อไปได้เลยทีเดียว 
แผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะเริ่มต้นตั้งแต่เด็กก่อนวัยอนุบาลไปจนถึงระดับอุดมศึกษาฉะนั้น แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีเป็นการสร้างคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทางด้านเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ อำนาจทางเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ การเชื่อมโยงผ่านกระบวนการโลกาภิวัตน์ ไทยในฐานะเป็นเจ้าของห่วงโซ่การผลิต ไม่ใช่เป็นเพียงแค่โซ่ตัวใดตัวหนึ่ง แต่อาจจะเป็นเจ้าของห่วงโซ่ทั้งหมด


ประเทศต้องมีนโยบายระดับพหุภาคี ระดับโลกในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต้องมีการร่วมมือในระดับภูมิภาค ระดับอนุภูมิภาค ฉะนั้น แผนพัฒนาในระยะต่อไปจะมีความสลับซับซ้อน เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี (2560-2564) 10 ยุทธศาสตร์ เป็นความสลับซับซ้อนของการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดตลอดเวลา ทุกอย่างที่ทำจะหยุดชะงักไม่ได้ ในปัจจุบันและอนาคตวัฏจักรหลายตัวจะซ้อนทับกันขึ้นมา ดังนั้น ต้องสามารถปรับให้เข้าสู่วงจรการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ 

– จุดแข็งไทย “เศรษฐกิจพอเพียง”
ในขณะที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย เรามีจุดแข็งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ต้องรักษาสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจยุคใหม่ไว้ มีจุดคงที่ จุดสมดุล เป็นทางสายกลาง ไม่จำเป็นต้องรับทุกอย่าง รับในสิ่งที่ดีและเชื่อมโยงกับภูมิหลัง วัฒนธรรม ทรัพยากรของประเทศเพื่อบริหารความเสี่ยง คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ
ลักษณะเฉพาะตัวเพื่อรับกับสถานการณ์โลก ในขณะที่โลกต้องการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างแบบเททิ้งทั้งหมด แต่เป็นการรักษาพื้นฐานไว้ คือ การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เป็นเส้นแนวร่วมตลอดของทั้งแผนยุทธศาสตร์ ทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา 
– หัวใจยุทธศาสตร์ชาติ คือ พัฒนาคน
ตามแผนยุทธศาสตร์ หัวใจคือ ประการที่ 1 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาครูเพื่อกำหนดคุณภาพคน ประการที่ 2 เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค เน้นเรื่องการศึกษาของผู้ที่ด้อยโอกาสก่อน เรียนเพื่อรู้ เรียนเพื่อทำงานได้ ประการที่ 3 การศึกษาตลอดชีวิต สร้างคนให้มีความเชี่ยวชาญ คุ้นเคยกับระบบการค้นคว้า วิพากษ์วิจารณ์สิ่งใหม่ ๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นหัวใจ คือ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาตินำไปปฏิบัติได้จริง
– EEC พลิกโฉมหน้าลงทุนไทย
ขณะนี้รัฐบาลมีการเริ่มต้นที่ดี การจัดงบประมาณลักษณะภูมิภาค 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อพัฒนาภาคหรือต่อยอดเป็นนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่ตอบสนองความเร็วของตลาด เป็นเขตการผลิต พื้นที่การส่งออก ตอบสนองความเปลี่ยนแปลง 
โครงการ EEC เรียกว่าเป็นหัวหอกหรือเป็นแลนด์มาร์กการลงทุนใหม่ เพราะใน 20-30 ปีที่ผ่านมาประเทศขาดโครงการใหญ่เหมือนโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ขณะนี้กำลังจะมีโครงการ EEC มีโครงการเชื่อมโยงกับสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขนส่ง โลจิสติกส์ การผลิตที่มีศูนย์รวมต่อเนื่องกันได้เพื่อการส่งออก ด้วยอุตสาหกรรมการบิน ทำให้การส่งออกไปได้เร็วและกว้างขวาง ขณะที่โครงการเขตเศรษฐกิจทวาย ถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่จะส่งผลดีต่อการพัฒนาชายฝั่งด้านตะวันตกของไทย เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงเรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) 
– ลุ้นรัฐบาลใหม่รับไม้ต่อยุทธศาสตร์ชาติ 
สุดท้ายจะไปจบที่ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์จัดทำแผน ราชการต้องรับไปทำต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต และยึดโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี รัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูป ขณะนี้ทุกอย่างล็อกกันทำไว้ให้การเมืองในอนาคตได้เดินตามกรอบที่ตีเส้นไว้ไปด้วยกัน 
– พลิกเอกชนลงทุน 70 รัฐ 30 
กระบวนการการพัฒนาในอดีตประเทศอื่นที่พัฒนามาแล้วก่อนหน้า 1.เป็นการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานกฎระเบียบที่แข็งแรง 2.จะต้องอยู่บนพื้นฐานการค้าที่เสรี การกีดกันทางการค้าน้อยที่สุด 3.ในประเทศพัฒนาที่เจริญแล้วการลงทุนนวัตกรรมเป็นเรื่องของเอกชน ไม่ใช่รัฐ แผนยุทธศาสตร์จะเปลี่ยนจากเอกชนลงทุน 30 รัฐบาล 70 เป็นเอกชนลงทุน 70 รัฐบาล 30 เอกชนเป็นตัวนำ รัฐบาลลงทุนเรื่อง Innovation 2% ของจีดีพี 
– แผนชาติ-รัฐธรรมนูญรับมือการเมืองผันผวน
การมียุทธศาสตร์อย่างน้อยจะช่วยให้มีแนวทางยึดเหนี่ยว ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่คาดการณ์ได้ยาก เช่น หากคาดการณ์ได้ว่าทุก 4 ปีมีเลือกตั้งใหม่ หรือแม้ว่าการเมืองไม่มีความแน่นอน จะมีโครงสร้างของกฎระเบียบใหม่ ทั้งรัฐธรรมนูญ แผนปฏิรูป แผนยุทธศาสตร์ ยึดโยงซึ่งกันและกันเอาไว้ และทำให้มีกรอบของการเดินหน้าประเทศ มีกรอบใหญ่จะมีทิศทางที่ชัดเจนต่อเนื่องออกไปเรื่อย ๆ ไม่ขาดตอน
Cr.ประชาชาติธุรกิจ