ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ก.ศึกษาเพิ่งดิ้น..!! สั่งเปิดรับฟังข้อคิดเห็น เกณฑ์วิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหลังถูกถล่ม(มีคลิป)

#ก.ศึกษาเพิ่งดิ้น..!! สั่งเปิดรับฟังข้อคิดเห็น เกณฑ์วิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหลังถูกถล่ม(มีคลิป)

20 May 2017
615   0

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหรือเลื่อนวิทยฐานะ รวมถึงการจัดทำร่างบทเฉพาะกาล ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล จะมีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ ที่จะยื่นหยุ่นเพื่อประโยชน์ต่อผู้ที่ยื่นขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่า ไม่ได้รับผลกระทบ จากนี้สำนักก.ค.ศ.จะนำร่างหลักเกณฑ์ฯ ไปทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยการรับฟังความคิดเห็นจะมีทั้งเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงาน ก.ค.ศ.และเว็บไซต์องค์กรหลัก ของศธ. ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20-31 พฤษภาคม 2560 และร่วมตอบแบบสอบถามได้ที่ http://survey-vt.otepc.go.th/ ขอให้ท่านอ่านเอกสารสรุปแนวทางการประเมินวิทยฐานะใหม่ (สายงานการสอน) 
โดยแจ้งสรุปแนวทางการประเมินวิทยฐานะใหม่ (สายงานการสอน) ว่า

          ด้วยกระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจะมีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีขีดความสามารถและสมรรถนะที่เหมาะสม รองรับโมเดลการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ประกอบกับกระทรวงศึกษาธิการมีการปฏิรูปการศึกษาและการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ในการนี้ครูเป็นตัวจักรสำคัญสูงยิ่งในการเตรียมผู้เรียนตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว และปรากฏว่าการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการประเมินจากเอกสาร ส่งผลให้ข้าราชการครูส่วนหนึ่งมุ่งเขียนผลงานทางวิชาการ จึงทำให้ทิ้งห้องเรียน ส่งผลให้การพัฒนาผู้เรียนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และในขณะที่ครูมีวิทยฐานะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่คุณภาพการศึกษาในภาพรวมยังไม่เป็นที่พึงพอใจของสังคม ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีครูจำนวนมากที่มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท การสอนหนังสืออย่างแท้จริงจนเกิดทักษะ ความชำนาญ และความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง ส่งผลให้เกิดคุณภาพในการเรียนการสอน ซึ่งครูจำนวนดังกล่าวนี้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น

          ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายปรับเปลี่ยนแนวทางการประเมินวิทยฐานะใหม่ จากการประเมินเอกสารเป็นส่วนใหญ่ เป็นการประเมินจากการปฏิบัติงานจริง โดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถ การสั่งสมประสบการณ์ในวิชาที่ทำการสอนจนเกิดความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ มีการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง และมีวินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการในการประเมิน ดังนี้

          1. ครู ปฏิบัติงานในการจัดการเรียนการสอนปกติอย่างมีคุณภาพ โดยบันทึกข้อมูลส่วนตัว เช่น การดำรงตำแหน่ง ชั่วโมงการสอน ชั่วโมงการอบรมและพัฒนา ผลการปฏิบัติงานในแต่ละปี เป็นต้น ใน Logbook และ e-Portfolio เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาตนเอง และเพื่อขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนในการพัฒนาตนเอง ลดปริมาณเอกสาร ลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสาร เพื่อรับการประเมิน

          2. ผู้บังคับบัญชาประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของครูจากการปฏิบัติงานจริงทุกปีการศึกษา พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษาถัดไป และครูสามารถนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะดังกล่าว ไปพัฒนาตนเองและเป็นข้อมูลประกอบการขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ ทั้งนี้ ครูสามารถวางแผนพัฒนางานในหน้าที่และสามารถกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาตนเองได้อย่างชัดเจน

          3. ครูที่ประสงค์จะยื่นขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ให้รวบรวมข้อมูลจาก Logbook และ e-Portfolio จำนวน 5 ปี มายื่นขอรับการประเมิน ทั้งนี้ ครูที่ประสงค์จะยื่นขอรับการประเมิน สามารถตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของตนเองจาก Logbook และ e-Portfolio ได้ โดยไม่ต้องรวบรวมเป็นเอกสารมานำเสนอเช่นในอดีต

          4. ในช่วงแรกของการประกาศใช้หลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ ซึ่งอาจมีครูที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เดิมแต่ไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ ให้สามารถยื่นขอรับการประเมินตามหลักเกณฑ์ฯ ว 17/2552 หรือหากประสงค์จะขอยื่นตามหลักเกณฑ์ใหม่ ก็สามารถทำได้ โดยจะมีบทเฉพาะกาลรองรับในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ยื่นขอรับการประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่ เช่น การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ชั่วโมงการปฏิบัติงาน หรือการผ่านพัฒนา เป็นต้น
ปัญญา ภาษาทอง สำนักข่าววิหคนิวส์กำแพงเพชร รายงาน