ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #กรธ.ยันไม่คว่ำกม.ลูก !! คาดทำกฎหมายลูก ส.ว.ให้เสร็จ ต.ค.นี้

#กรธ.ยันไม่คว่ำกม.ลูก !! คาดทำกฎหมายลูก ส.ว.ให้เสร็จ ต.ค.นี้

16 October 2017
396   0

                                                                                                          

                                                                   
        สนช.ยืนยัน ไม่มีการคว่ำร่างกฎหมายลูกแน่นอน ย้ำการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็ปที่นายกฯ ระบุไว้ ด้านกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คาดพิจารณากฎหมายลูก ส.ว.เสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ และ จะเริ่มพิจารณากฎหมายลูก ส.ส.ในเดือน พ.ย.นี้

         ข่าวช่อง 8 – นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของ กรธ.ว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้พิจารณาเสร็จไปแล้วในรอบแรก ขณะนี้กำลังทบทวนอีกครั้งว่า มีส่วนใดที่ขาดตกบกพร่องหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของวิธีการเลือกไขว้ และคุณสมบัติของผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพ คาดว่า การพิจารณาไม่น่าจะเกินสิ้นเดือน ต.ค.นี้ น่าจะเสร็จสมบูรณ์
         ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเริ่มพิจารณากันในเดือน พ.ย. และจะเร่งให้เสร็จเพื่อทันส่งให้ สนช.พิจารณาตามที่ กรธ.ได้กำหนดไว้คือ 28 พ.ย. นี้ ซึ่ง กรธ.เตรียมข้อมูลเบื้องต้นไว้หมดแล้ว คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
         ส่วนการประชุม กรธ.ในสัปดาห์นี้ จะนำข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาพิจารณาว่ามีส่วนใดต้องปรับแก้หรือไม่ หากมีเหตุผลดี กรธะปรับแก้ให้ โดยจะทำให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ และส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป

         ด้าน นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.กล่าวว่า ในวันที่ 16-17 ต.ค. กรธ.จะพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า มีประเด็นอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่ ป.ป.ช.ได้ร้องเรียนมาหรือไม่ อาทิ ประเด็นที่จะให้หน่วยงานใดเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบป.ป.ช.ได้นั้น คงจะต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระเพื่อตรวจสอบ ป.ป.ช. จริง
         ส่วนประเด็นที่ ป.ป.ช.ท้วงติงว่า กรธ.เขียนกฎหมายให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบ ป.ป.ช.นั้น กรธ.ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งกรธ.จะพิจารณาเสร็จภายในสัปดาห์นี้ และ ส่งให้สนช.ต่อไป
        ขณะที่ นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรธ.ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงการปรับปรุงและแก้ไขเนื้อหาของร่างกฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช. วันที่ 19 ต.ค.ว่า มีหลายประเด็นที่สนช.ปรับปรุงเนื้อหา และกรธ.ไม่สามารถยอมต่อการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้

        โดยเฉพาะ มาตรา 7 วรรคสาม ว่าด้วยอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่มีหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป.ป.ช.ที่กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากให้ตัดวรรคนี้ ออกทั้งวรรค
         ซึ่งกรธ. เห็นว่าเป็นประเด็นที่ยอมไม่ได้ และหากในชั้นประชุม สนช. วาระสอง และ วาระสาม ยังยืนยันที่จะแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าาว ทาง กรธ.จะขอตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายทันที เพราะบทบัญญัติที่ถูกปรับเปลี่ยน อาจทำให้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้

         ขณะที่นายแพทย์ เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ กรธ.พิจารณาใกล้เสร็จแล้วนั้น จะส่งให้ สนช.พิจารณาในวันที่ 21 พ.ย. 60 เบื้องต้น หลักการการเลือกไขว้และการแบ่งกลุ่มอาชีพที่ กรธ.กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนั้น เป็นบทบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญ 60 ได้กำหนดไว้ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ สนช.ยังไม่เห็น จึงต้องรอให้ กรธงมาให้ สนช.พิจารณาก่อน
        เบื้องต้นคงไม่มีปัญหาอะไร และจะเสร็จทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และเป็นไปตามโรดแม็ปการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ไม่น่าจะมีการคว่ำร่างกฎหมายลูก เพื่อยื้อเวลาตามที่เป็นกระแสข่าว และแม้จะมีความเห็นแย้ง จนต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะการดำเนินการมีกรอบเวลากำหนดไว้อยู่แล้วว่า ต้องใช้เวลาเท่าใด

         ส่วนความคืบหน้าการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.กล่าวว่า อยากให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการสรรหาที่มาจากการเสนอชื่อขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะนายเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะขาดคุณสมบัติ เพราะเพิ่งพ้นจากการเป็นข้าราชการการเมือง คือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาไม่ถึง 10 ปี ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
        ดังนั้นหากการประชุมคณะกรรมการสรรหากกต.ในครั้งที่ 2 วันที่ 18 ตุลาคม ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว และกรรมการสรรหาประชุมไปจนถึงการลงมติคัดเลือกจนได้ กกต.ใหม่ อาจจะถูกร้องในภายหลังว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 และอาจทำให้การสรรหากกต.สูญเปล่าได้ สาเหตุเพราะคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหากกต.ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

สำนักข่าววิหคนิวส์