26 ธ.ค.60 นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่การใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขพ.ร.ป.ด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560 ว่า
แนวหน้า-เชื่อว่า คำสั่งดังกล่าว จะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.ประกาศไว้ เพราะหากพิจารณาตามกรอบของการออกกฎหมายและรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะพบว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ภายใน 150 วัน ซึ่งขณะนี้ เหลือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดว่า จะใช้เวลาพิจารณาแล้วเสร็จ วาระสาม ช่วงปลายเดือนมกราคม 2561 โดยขณะนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณหรือสถานการณ์ที่จะทำให้เวลาไม่เป็นไปตามกำหนด
“จากนั้นจะเข้าขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งขั้นตอนพิจารณา ขั้นต้อนส่งให้รัฐบาล และ ขั้นตอนนำร่าง พ.ร.ป. ขึ้นทูลเกล้าฯ เบื้องต้นตามเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดแบบเต็มจำนวน เชื่อว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ว. จะมีผลบังคับใช้ช่วงพฤษภาคม หรือ ช้าสุดเดือนมิถุนายน 2561 ดังนั้น เมื่อนับเวลาดังกล่าวไปอีก 150 วันจะพบว่า การเลือกตั้งจะเกิดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561” นายชาติชาย กล่าว
นายชาติชาย กล่าวด้วยว่า ส่วนที่นักการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกระบวนการรีเซตสมาชิกพรรคการเมืองนั้น ตนมองว่า ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อพิจารณารายละเอียดจะพบสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้พรรคการเมืองทำขั้นตอนทางธุรการที่สำคัญ คือ การสำรวจจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง หากเทียบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กับคำสั่งคสช. ถือเป็นกระบวนการให้พรรคตรวจสอบสมาชิกเช่นเดียวกัน ซึ่งพรรคต้องตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้ถูกต้องเช่นกัน แต่ที่ปรับแก้ไขคือ เรื่องระยะเวลาเท่านั้น ดังนั้น ที่นักการเมืองเข้าใจว่าเป็นการรีเซต ตามความหมาย คือ เริ่มใหม่ คงไม่ใช่
สำนักข่าววิหคนิวส์