1 ต.ค.60 ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย นางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) และผู้แทน 42 องค์กรประชาชน ร่วมกันประชุมประเมิณการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานฯ ในรอบ 3 เดือน โดยเฉพาะงานด้านบริหารบุคคล ด้านอำนาจหน้าที่ และด้านการสอบสวน
ภายหลังการประชุม นางสมศรี เปิดเผยว่า เครือข่ายภาคประชาชนมีความเห็นร่วมกันเสนอคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะ 1.ด้านบริหารงานบุคคล ตามที่กรรมการปฏิรูปตำรวจพิจารณาว่าจะให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจโดยใช้สัดส่วนอาวุโส 33% และความสามารถ 67% เหมือนเดิม แต่ในกลุ่มความสามารถนี้จะให้แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ได้รางวัลต่างๆ กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชานั้น คป.ตร.เห็นว่า การแต่งตั้งโยกย้ายในลักษณะนี้โดยไม่พิจารณาเรื่องอาวุโสเป็นหลัก จะไม่แก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง และยังเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้น เพราะเป็นการเปิดให้มีการใช้ดุลยพินิจของผู้แต่งตั้ง ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะแต่งตั้งโยกย้ายได้อย่างสุจริต เช่นเดียวกับการให้ ก.ตร.เลือก รอง ผบ.ตร.3 คน เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ถ้าไม่เห็นชอบให้นำกลับมาทบทวน เรื่องนี้ถือเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตำรวจเหมือนเดิม ส่วนการให้กองบัญชาการตำรวจภาคมีอำนาจแต่งตั้งตำรวจภายในภาคได้นั้น คป.ตร.เห็นว่า ควรยุบกองบัญชาการตำรวจภาค เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น และซ้ำซ้อน
นางสมศรี กล่าวว่า 2.ด้านอำนาจหน้าที่ ที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเสนอให้การโอนตำรวจ 11 หน่วย ที่เป็นการรักษากฎหมายเฉพาะด้านไปให้กระทรวง ทบวง กรม ที่รับผิดชอบ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี เรื่องนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 ตามรายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ ครม.ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม คป.ตร.เห็นว่าต้องดำเนินการทันที 3.ด้านการสอบสวน คป.ตร.ขอเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยปฏิรูประบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ เพื่อไม่ให้ผู้บังคับบัญชาสามารถแทรกแซงการสอบสวนทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ การที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังคงงานสอบสวนอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่มีหลักประกันในความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน คป.ตร.ทราบว่าทางคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจจะให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีตั้งแต่เกิดเหตุ และเป็นที่ยอมรับในหลักการแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะให้เข้ามาในลักษณะใด เรื่องนี้ต้องชี้แจงในรายละเอียดเพื่อให้ประชาชนได้ทราบ ดังนั้น 3 เดือน ของการทำงานของกรรมการปฏิรูปตำรวจ คป.ตร.ขอให้นำความเห็นของประชาชนที่ได้รับฟังมาเป็นตัวกำหนดในการทำการปฏิรูปอย่างจริงจัง คป.ตร.เห็นว่าการทำงานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 3 เดือน ยังไม่สามารถตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของประชาชนได้ ถือเป็นการถ่วงเวลาเพื่อรักษาโครงสร้างเดิม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงขอให้คะแนนแก่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 1 คะแนน จาก 10 คะแนน
“ขอเสนอไปยังคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ คือ 1.การแยกพนักงานสอบสวนออกจาก สตช.ให้มีการบันทึกภาพและเสียงเก็บไว้เป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่อัยการสามารถตรวจสอบได้ทุกคดีตั่งแต่เริ่มเป็นคดีหรือมีการร้องเรียน 2.เร่งดำเนินการตามมติ สปช.ที่ ครม.มีมติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 3.ให้มีการกระจายอำนาจตำรวจไปเป็นตำรวจจังหวัด และยุบกองบัญชาการภาค ผลักดันให้เป็นนิติบุคคลมีอำนาจมากขึ้น 4.เรื่องงานบริหารงานบุคคล ที่ประชุมเห็นว่าควรพิจารณาหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งโยกย้ายให้พิจารณาความอาวุโส เพื่อสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสร้างความเป็นธวรรม ลดกการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง” นางสมศรี กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ เวลา 11.00 น.เครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นข้อเสนอและข้อสรุปในการประชุมวันนี้ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมจัดเวทีสัมมนาทั่วประเทศ เพื่อพลักดันให้มีการกระจายอำนาจไปยังจังหวัดปริชาติ
ที่มา แนวหน้า
สำนักข่าววิหคนิวส์