ข่าวประจำวัน » โอ้ละพ่อเรือดำน้ำ ! สุทิน อ้างต้องผ่านสภาก่อนยกเลิกได้

โอ้ละพ่อเรือดำน้ำ ! สุทิน อ้างต้องผ่านสภาก่อนยกเลิกได้

28 October 2023
461   0

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง [กมธ.ทหาร เกาะติดเรือดำน้ำ จี้ รมว.กลาโหม ตอบคำถาม 8 ข้อ] ผ่านเฟสบุ๊กถึงการเรียกกองทัพเรือเข้าชี้แจง โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ผมได้แจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ในวันพฤหัสบดี ที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ทาง กมธ.ทหาร ได้เชิญกองทัพเรือให้มาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีเรือดำน้ำ แต่ปรากฏว่า เมื่อเวลา 09.00 น. โดยประมาณ ของวันประชุม ทาง กมธ.ทหาร ได้รับหนังสือลงวันที่ 25 ตุลาคม 2566 จากกองทัพเรือว่า ยังไม่สามารถมาชี้แจงต่อ กมธ.ทหารได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจน ครบถ้วน เพียงพอ

เหตุผลดังกล่าวสร้างความสงสัยต่อคณะกรรมาธิการทุกท่านอย่างมาก เนื่องจากการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้นได้อนุมัติหลักการไปตั้งแต่ ปี พ.ศ.2558 แล้วจะยังไม่มีความชัดเจน ได้อย่างไร หากผ่านมา 8 ปี แล้วยังไม่มีความชัดเจน และพอมีปัญหาในการจัดซื้อเกิดขึ้น ก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อไปซื้อเรือฟริเกตทันที มันก็พอจะเป็นคำตอบให้กับสังคมได้ว่า เรือดำน้ำ ไม่น่าจะมีความจำเป็น อย่างที่เคยยืนยัน

อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ.ทหาร ได้มีมติให้ทำหนังสือเชิญไปอีกครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนี้ ให้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ทร.ด้วย โดยได้ส่งประเด็นคำถามให้ทราบล่วงหน้า 8 ประเด็น คือ

1.ขอสัญญาแบบ G2G ของการจัดซื้อเรือดำน้ำแบบ Yuan Class S26T พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับค่าปรับ หรือการชดเชย ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้

2.ขอหนังสือโต้ตอบระหว่างคู่สัญญา ที่ยืนยันว่าบริษัท China Shipbuilding & Offshore Interbational จะสามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนี มาติดตั้งในเรือดำน้ำให้ได้ หรือเงื่อนไขข้อยกเว้นที่แนบท้ายสัญญา หนังสือเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องยนต์ ที่ตอบกลับมาในภายหลัง ตลอดจนหนังสือเสนอเครื่องยนต์ CHD620 เป็นการทดแทน

3.ขอหนังสือแจ้งสงวนสิทธิการปรับตามสัญญา ที่ได้แจ้งให้คู่สัญญาทราบ

4.สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้ตั้งงบประมาณ และ/หรือ ก่อหนี้ผูกพัน และ/หรือ งบประมาณที่ได้เบิกจ่ายไปแล้ว เกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ

5.รายละเอียด Spec ของเรือฟริเกต ที่จะนำมาแลกเปลี่ยน เป็นอย่างไร มีการติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรในเรือบ้าง ราคาประเมินเท่าไหร่ จะต้องจ่ายเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่ จะมีปัญหาในการจัดหาเครื่องยนต์อีกหรือไม่ มีภาระเพิ่มเติมทางงบประมาณในการบำรุงรักษา การสำรองอะไหล่ การตระเตรียมระบบอำนวยการ และระบบการสื่อสารข้อมูล ฯลฯ มากน้อยเพียงไร และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ระบุไว้ในสมุดปกขาวของกองทัพเรือ หรือไม่ อย่างไร

6.การนำเอาเรือฟริเกต มาแลกเปลี่ยนในกรณีนี้ จะกระทบโครงการจัดหาเรืออานันทมหิดล และเรือภูมิพล หรือไม่ อย่างไร

7.กระทรวงกลาโหม จะนำเอาการเปลี่ยนแปลงสัญญา G2G ของเรือดำน้ำ เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อใด

8.รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่มีการใช้งบประมาณไปราว 200 ล้านบาท

โดย กมธ.ทหาร จะย้ำไปว่า ใน 8 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ขอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดส่งเอกสาร หรือตอบเป็นหนังสือกลับมาในเบื้องต้นได้ และหากยังไม่พร้อมมาชี้แจงกับ กมธ.ทหาร ก็ขอให้แจ้งกลับมาด้วยว่า จะพร้อมมาชี้แจงได้เมื่อใด

ผมอยากจะส่งข้อความด้วยความปรารถนาดี ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า อย่างไรก็ตาม สัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำ เป็นสัญญาแบบ G2G ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ หากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในสัญญา อย่างกรณีที่จะแลกเรือดำน้ำเป็นเรืออย่างอื่น อย่างไรก็ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา นั่นหมายความว่า ในท้ายที่สุดก็ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดเป็นการสาธารณะอยู่ดี เพราะถ้าไม่มีรายละเอียดข้อมูลใดๆ ก็คงไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนไหนกล้าที่จะยกมือให้

และขอแนะนำเพิ่มเติมว่า อย่าคิดที่จะหลีกเลี่ยงไม่นำเอาเรื่องนี้ เข้ามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งอาจเข้าข่าย เป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ และอาจจะซ้ำรอยกับกรณีโครงการจำนำข้าวได้