รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า คำประกาศของคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน ระบุว่า เป้าหมายของการออกกฎระเบียบใหม่นี้คือเพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ที่ชาร์จไฟของเดิมที่มีอยู่เมื่อซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่
ปัจจุบัน ผู้บริโภคในยุโรป ซึ่งมีประชากรราว 450 ล้านคน มีหัวชาร์จให้เลือกใช้งาน 3 ประเภทหลักๆ คือ “ไลต์นิง” ของแอปเปิล, ไมโครยูเอสบีที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ และ USB-C ที่เป็นแบบใหม่ซึ่งใช้งานแพร่หลายมากขึ้น แต่ตามข้อเสนอของอียู จะกำหนดที่ชาร์จแบบ USB-C ให้เป็นมาตรฐานสากลสำหรับยุโรป และทันทีที่รัฐบาลของชาติสมาชิกและรัฐสภายุโรปอนุมัติ ก็จะส่งผลสะเทือนต่อตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก
อียูกล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันยัง “ไม่สะดวกสบาย” และผู้บริโภคในยุโรปต้องใช้จ่ายเงินราว 2,400 ล้านยูโรในแต่ละปี เพื่อซื้อที่ชาร์จแยกต่างหาก
ด้านบริษัทแอปเปิล ซึ่งเริ่มใช้ตัวเชื่อมต่อแบบ USB-C กับไอแพดและคอมพิวเตอร์แล็บท็อปของตนแล้ว ยืนกรานว่า การออกกฎหมายมาบังคับให้ใช้ที่ชาร์จสากลสำหรับโทรศัพท์ทุกเครื่องทุกรุ่นในยุโรปนั้นจะเป็นการปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคในยุโรปและทั่วโลก
คณะกรรมาธิการยุโรปเคยทำความตกลงแบบสมัครใจไว้กับอุตสาหกรรมผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเมื่อปี 2562 เกี่ยวกับการใช้ที่ชาร์จในแบบเดียวกันและสามารถลดปริมาณขยะสายไฟได้ แต่แอปเปิลปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม
ในข้อเสนอเมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งยังสามารถพิจารณาแก้ไขได้ก่อนการให้สัตยาบัน ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจะมีเวลา 24 เดือนในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามกฎ.