30 ต.ค. 2566 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีความเสี่ยงต่อการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า จะเป็นการฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ในระยะปานกลางขยายตัวได้ในระดับ 3% เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี เป็นระดับที่ไม่สวยหรูนัก
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งความเสี่ยงใหม่ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน จึงเป็นความเสี่ยงที่ประเมินผลต่อเศรษฐกิจที่มีความยากกว่าในอดีต เพราะมองผลข้างเคียงไม่ออก และคาดเดาไม่ได้
ดังนั้น ในเวทีโลกจึงห่วงเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ที่แนะนำว่าแต่ละประเทศ ควรมุ่งเน้นทำนโยบาย ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เพราะผลจากสงคราม อาจทำให้เกิด Inflation Shock ที่เคยดูแลเงินเฟ้อ ก็อาจจะกลับพุ่งขึ้นมาอีก รวมทั้งสร้างกันชนทางภาคการคลัง จากช่วงที่ผ่านมาในแต่ละประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการคลังกันมาก จึงควรมุ่งเน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เร่งปรับหนี้สาธารณะให้ลดลง เพื่อเตรียมรับมือ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับดูแลเสถียรภาพด้านการเงินไปด้วย และมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล และ ธุรกิจสีเขียว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในส่วนของไทย แม้เสถียรภาพโดยรวมจะโอเค แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมีบางประเด็นที่โอเค และบางเรื่องที่โอเคน้อยหน่อย เช่น เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับดี ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนี้ต่างประเทศไม่สูง ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ฐานะธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง ส่วนที่ต้องระมัดระวัง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.7% ต่อจีดีพี แม้จะลดจากช่วงที่สูงที่สุดคือ 94% แต่ก็ยังสูง และอยากให้กลับลดลงมาอยู่ในระดับเกณฑ์ที่สากล 80% รวมทั้งหนี้สาธารณะในระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ที่ถือว่าสูง
ขณะที่เสถียรภาพตลาดทุนที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกตั้งแต่ต้นปี -8.4% หรือมีเงินทุนไหลออกกว่า 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านตลาดหุ้นและพันธบัตร สวนทางกับประเทศอื่น สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงเป็นที่ 2 รองจากที่เคยไหลออกสูงสุด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็มีความผันผวน 8-9% สูงกว่าอดีตและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นรองแค่ประเทศเกาหลีใต้ที่ผันผวน 12%
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า มีความเสี่ยงที่ Credit Rating Agency’s จี้จุดประเทศไทย มีโอกาสปรับมุมมองจากเสถียรภาพ เป็นมุมมองเชิงลบ (Negative) หากนโยบายภาคการคลังมีความเสื่อม ดังนั้นควรมุ่งลดรายจ่าย ทยอยปรับลดการขาดดุล ปรับลดหนี้สาธารณะ มีมาตรการเพิ่มรายได้ ซึ่งล่าสุดมีบางบริษัทให้ความกังวลภาระหนี้ต่องบประมาณ ไม่เกิน 12% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 10% กว่า
“หนี้สาธารณะยอมรับว่าวิ่งไปเยอะจากช่วงก่อนโควิดในระดับ 40% ต่อจีดีพี ทุกประเทศก็มุ่งดูเรื่องเสถียรภาพ จะบอกว่าเราไม่แคร์เลยก็คงไม่เหมาะ หากมองว่าความเสี่ยงเยอะ ก็ควรต้องเก็บลูกกระสุนไว้หรือเปล่า ซึ่งพื้นที่ในการทำนโยบาย (Policy Space) เราจะไม่เห็นความสำคัญของมัน จนกว่าจะหมด หรือมันไม่มี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว