ข่าวประจำวัน » เศรษฐา โดนแล้ว ! เต้ ไทยศรีวิไลซ์ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ผิด 157 ฐานไม่ยึดเงินทักษิณ คดีทุจริต

เศรษฐา โดนแล้ว ! เต้ ไทยศรีวิไลซ์ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ผิด 157 ฐานไม่ยึดเงินทักษิณ คดีทุจริต

19 March 2024
1207   0

วันนี้ 19 มีนาคม 2567 พรรคไทยศรีวิไลย์ นำโดย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ-หัวหน้าพรรค , นางสาวภคอร จันทรคณา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ-เลขาธิการพรรค,นางสาว อรศศิพัชร์ มามีเกตุรัตน์ โฆษกพรรค, นายอนุรักษ์ อมรเมตตาจิต นายทะเบียนพรรค ,นางสาวกฤษยากร สรชัย กรรมการบริหารพรรค ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ปปช.
ด้วย พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้ติดตามและตรวจสอบ คดีต่างๆ ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีต นายรัฐมนตรี อาทิ
คดีที่ 1 – คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณได้เดินทางออกนอกประเทศ หลังจากที่เดินทางกลับมา ภายหลังพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง โดยอ้างว่า ไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ไม่รอลงอาญาและ ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว
คดีที่ 2 – คดีให้นอมินีถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม

โดยศาลพิพากษารวมโทษ จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี
คดีที่ 3 – คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ หวยบนดิน ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
คดีที่ 4 – คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)
ต่อมาเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับมาในประเทศไทย เพื่อกลับมารับโทษ โดยศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินบังคับโทษ 3 คดี นับโทษรวม “ทักษิณ ชินวัตร” ติดคุก 8 ปี
วันที่ 1 กันยายน 2566 มีพระบรมราชโองการ ถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามพิพากษารวมทั้งหมด 8 ปี หลังจากทักษิณกลับมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 10 วัน
วันที่ 17 ก.พ.2567 นายทักษิณ ชินวัตร ถูกจำคุกมาเป็นระยะเวลารวม 6 เดือน(พักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ) ได้รับการพักการลงโทษ
เฉพาะ คดีที่ 4 โดยศาลฏีกาฯ เห็นว่า นายทักษิณ ชินวัตร สั่งการให้ Exim Bank อนุมัติเงินกู้ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า ดังกล่าว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ศาลฯจึงพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือ แจ้งผลคดีและขอให้ดำเนินการให้จำเลย(นายทักษิณ ชินวัตร)ชดใช้ความเสียหาย โดยมีหนังสือลง วันที่ 8 สิงหาคม 2562 ป.ป.ช. ได้มีการส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ปช 1129/1355 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ระหว่าง ป.ป.ช. (โจทก์) และ พันตำรวจโท หรือ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ว่า จำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี ส่วนประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่ เพียงใด นั้น ขณะยื่นฟ้อง เมื่อปี พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 73/1 วรรคหนึ่ง (เดิม) กำหนดวิธีเรียกค่าเสียหายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)) เห็นชอบที่จะต้องแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้จำเลยชดใช้ความเสียหายนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลังเข้ามาในคดีนี้ได้ จึงต้องยกคำขอส่วนนี้ ซึ่งบัดนี้คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว

สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอเรียนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับทราบคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว และมีมติให้แจ้งผลคดีดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย ที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยความเสียหายที่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยต่อไป
บัดนี้ระยะเวลาก็ได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว พรรคไทยศรีวิไลย์ จึงเรียนมายัง พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ปปช.ขอให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการไต่สวนฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำกับ กระทรวงการคลัง กรณี การอาจจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญา ม.157 เนื่องจากมีหน้าที่ๆต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ที่ต้องเรียกค่าความเสียหายทางแพ่งกับ นายทักษิณ ชินวัตร กรณี สั่งการให้ Exim Bank อนุมัติเงินกู้ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า พร้อมดอกเบี้ย+ดอกเบี้ยส่วนต่างความเสียหาย ซึ่งถ้าผิดจริงให้ส่งเรื่องไปยัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา