20 พ.ค. 2567 – ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม 40 สว. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักงานายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ว่า ตนไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย ซึ่งเป็นไปอย่างที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า เรื่องนี้ได้มีการหารือในที่ประชุม กมธ. โดยมีการถกรายละเอียดกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะนายเสรี และกมธ. อีกหลายคนไม่เห็นด้วยต่อการที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะมีรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วย และที่สำคัญที่สุด สว.หมดวาระ ฉะนั้นเมื่อหมดวาระก็ไม่ควรไปสร้างประเด็นและปัญหา แม้จะมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง และต้องทำในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น
“เรื่องนี้เรามองเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน และเห็นว่ามีอีกหลายส่วนงานที่สามารถทำหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ สส. ที่เขาเห็นปัญหา เราไม่ควรจะสร้างปัญหานี้ในที่ประชุม กมธ. จึงมีเพียงแค่ 3 คนที่ร่วมลงชื่อ และผมก็ไม่เห็นด้วยต่อประเด็นนี้ เพราะมองแล้วว่าการที่นายกฯ จะเสนอใครสักคน เพื่อให้ในหลวงโปรดเกล้าฯ จะต้องมีการพิจารณาตรวจสอบอย่างรอบคอบด้วยความระมัดระวังและมีหลายองค์กรที่กว่าจะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทำการตรวจสอบ และได้มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว จึงเชื่อว่านายกฯ ต้องทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ แต่คนอื่นเห็นปัญหาอย่างไรก็เป็นเรื่องที่คนอื่นจะต้องตรวจสอบต่อไป ดังนั้น สว. ที่อยู่ในฐานะกำลังจะไป ก็ไม่ควรจะไปสร้างประเด็นใดๆ ขึ้นมาอีก” นายวันชัย ระบุ
นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เรามีความรู้สึกแปลกประหลาดใจ ทำไมถึงไม่เปิดชื่อทั้ง 40 คน เพราะ สว. คนอื่น ที่ไม่ลงชื่อด้วยมีจำนวนมาก ขณะเดียวกันกระแสสังคมก็ถาถมเข้ามา ก็เหมือนกับเป็นการกดดัน สว. ทั้งหมดกำลังจะพ่นพิษ สร้างฤทธิ์สร้างสถานการณ์อะไรต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งเราบอกว่าในวาระที่เราจะไปแล้วไม่ควรจะให้มีสถานการณ์ใดๆ ที่จะให้สังคมมองเราในแง่มุมที่ไม่ดี และกระแสสังคมที่เอาไปพูดว่า สว. กำลังจะล้มนายกฯ กำลังจะล้มรัฐบาล เท่าที่มองและพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้ทั้งในเรื่องกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เอามาอ้าง มองดูแล้วไม่ได้ไปถึงขนาดนั้นเลย เพียงแต่นักวิชาการ สื่อ และคนที่ไม่ชอบรัฐบาล ก็วิเคราะห์กันไปจนกระทั่งรัฐบาลล้ม อยากถามว่าหากรัฐบาลล้มจริงๆแล้วใครได้ประโยชน์อะไร เพราะถ้าดูตามเรื่องแล้ว หากรัฐบาลล้มจริง ๆนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ก็ยังต้องรักษาการนายกฯ ต่อไป แล้วมีการโหวตนายกฯ ต่อไป เมื่อโหวตนายกฯ สว. ก็ไม่มีสิทธิ์โหวต เพราะเป็นเรื่องของ สส. และพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นรัฐบาลต่อไป
“อย่างเก่งสมมุติถ้าเป็นไปตามนั้น ก็จะมีคุณอุ๊งอิ๊ง (น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) ขึ้นมา มีคุณชัยเกษม (นายชัยเกษม นิติศิริ) ขึ้นมา คนอื่นที่จะขึ้นมา มองดูแล้วปิดประตูเลย มันยากมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะล้มหรือไม่ล้ม เกมก็ยังอยู่ในมือพรรคเพื่อไทยอยู่ ฉะนั้นประเด็นนี้ไม่สามารถไปสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ ได้เลย นี่คือมองถึงผลร้าย แต่ใน กมธ. ได้ถกแถลงประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไม่น่าจะไปถึงนายกฯ แต่ก็อาจจะมีบางคนที่อาจจะหวังผลอื่นหรือเปล่าเราก็ไม่รู้” นายวันชัย กล่าว
เมื่อถามว่า กลุ่ม 40 สว. ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญมีเจตนาอย่างไร นายวันชัย กล่าวว่า ไม่อยากวิเคราะห์ แม้บางส่วนอาจจะพอเข้าใจอยู่บ้าง แต่ไม่อยากไปสร้างความขัดแย้งใดๆ ต่อกัน ก็ให้เป็นสิทธิ์ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของทุกคน ใครอยากจะใช้สิทธิ์อะไรก็ใช้สิทธิ์ไป และเป็นเรื่องความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล
นายวันชัย กล่าวว่า ยืนยันได้เลยในฐานะที่เป็น สว. และอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่โหวตนายกฯ จนกระทั่งยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 และจนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีการดีล หรือสั่งการอะไรกันทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมาเป็นเรื่องของกลุ่ม สายนั้นสายนี้ เพราะฉะนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเป็นการวิเคราะห์กันอย่างผิดๆ เป็นการเข้าใจและเอาเรื่องมาโยงเอง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนใน และอยากถามว่าหากดีลนี้ในที่สุดล้มนายเศรษฐาได้แล้ว ซีกไหนจะมาเป็นรัฐบาล ปิดประตูเลยใน 4 ปีนี้ ไม่มีซีกไหนจะมาเป็นรัฐบาล นอกจากปฏิวัติรัฐประหารเท่านั้น ถ้าไม่มีการปฎิวัติรัฐประหาร อย่างไรรัฐบาลก็อยู่ในสภา และคนที่มีอำนาจในการต่อรองสูงที่สุดก็คือพรรคเพื่อไทย พรรคอื่นอำนาจต่อรองไม่ถึง นอกจากปฏิวัติรัฐประหาร ไม่มีใครล้มได้ และถ้าเขาโกงกิน ทุจริต และไม่มีผลงาน เขาก็จะสะดุดขาตัวเองแน่นอน.