16 ม.ค. 2566 – ที่วุฒิสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ฐานะแกนนำยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มี สว.ร่วมลงชื่อในญัตติแล้ว 91 คน ทั้งนี้การเปิดให้ลงชื่อจะยังคงเปิดให้ สว.ที่สนใจจนถึงวันนี้ (16 ม.ค.) จากนั้นจะพิจารณายื่นเรื่องให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในช่วงวันที่ 19 ม.ค. หรือ 22 ม.ค. นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีสว.ร่วมลงชื่อเพิ่มอีก แต่จะไม่มีผู้ใดถอนรายชื่อ เพราะกว่าที่สว.จะร่วมลงชื่อได้พิจารณาเนื้อหาของญัตติอย่างรอบคอบแล้ว ส่วนกรณีที่นายวันชัย สอนศิริ สว. ระบุว่าอาจมีคนถอนชื่อออกจนยื่นญัตติไม่ได้นั้น เป็นแค่หลักการ แต่เชื่อว่าจะไม่มีใครถอนรายชื่อ
นายเสรี กล่าวด้วยว่า สำหรับการเตรียมพิจารณากรอบเวลานั้น กมธ.พัฒนาการเมือง ได้หารือร่วมกันเมื่อ 15 ม.ค. เบื้องต้นอยู่ระหว่างการสอบถาม สว. ที่ร่วมลงชื่อว่าต้องการอภิปรายในประเด็นใดใน 7 หัวข้อตามญัตติ และจะใช้เวลาเท่าใด เพื่อดูรายละเอียดว่าต้องใช้เวลาเท่าใดและใช้เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติดังกล่าวควรได้เวลา 2 วัน
เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองไม่อยากให้อภิปรายพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก่อนยื่นญัตติต้องทบทวนประเด็นดังกล่าวหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่มีการทบทวน เพราะก่อนที่สว.จะลงชื่อสนับสนุนญัตติได้ส่งรายละเอียดให้พิจารณาแล้ว ดังนั้นไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้
เมื่อถามว่าการอภิปรายดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ควรมาตอบด้วยตนเองหรือไม่ นายยเสรี กล่าวว่า แล้วแต่นายกฯ แต่หากจะให้ดีนายกฯ ควรมาเอง เพื่อเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเอง.