ข่าวประจำวัน » “สมศักดิ์” จัดทัพ อปท. เผชิญภัยแล้ง จากเอลนีโญ

“สมศักดิ์” จัดทัพ อปท. เผชิญภัยแล้ง จากเอลนีโญ

4 November 2023
178   0

“สมศักดิ์” จัดทัพ อปท. เผชิญภัยแล้ง จากเอลนีโญ

เตรียมงบ 2,000 ล้าน รายจ่ายประจำปี 2567 เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นหน่วยงานหลักทำโครงการขอใช้งบประมาณ อาจจะมีการขอยกเว้นการพิจารณาตามขั้นตอนปกติเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ส่วนขนาดฝายสามารถยืดหยุ่นขยับความยาวของฝายได้ตามสภาพจริงแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องมีความยาวของฝายแค่ 5 เมตร 10 เมตร หรือ 15 เมตรเท่านั้น

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 2 พฤศจิกายน 2566 (บ่าย) นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม ได้เข้าพบนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อหารือการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนด้วยกลยุทธ์การสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวในการหารือว่า “ฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแบบเสร็จแล้ว แต่ราคาการก่อสร้างค่อนข้างสูง เพราะหน่วยงานราชการที่ร่วมกันออกแบบต้องการมาตรฐานที่สูงเพื่อเพิ่มความแข็งแรงคงทนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะของบประมาณในส่วนนี้ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และหน่วยงานที่จะทำโครงการเพื่อขอใช้งบประมาณดังกล่าวจะเป็นเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งอาจจะมีการขอยกเว้นการพิจารณาตามขั้นตอนปกติเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว”

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีฯ มีความเห็นว่า เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นงบประมาณจำนวนไม่มาก ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความต้องการและมีความพร้อมในการส่งข้อมูลโครงการเข้ามาก่อน และเนื่องจากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในเบื้องต้นจึงได้มีแบบและประมาณราคาของฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ อาจแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ 5 ,10 และ 15 เมตร เป็นต้น

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เสนอในการหารือว่า การสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์จากงบประมาณดังกล่าว ควรเน้นสร้างในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน เพื่อเป็นการดัก กัก เก็บ ชะลอน้ำที่จะไหลบ่าลงสู่ภาคกลาง

ทั้งนี้นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ และนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม เสนอข้อเท็จจริง ดังนี้

  1. การกำหนดแบบและประมาณราคาฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ไว้ 3 ขนาดดังกล่าว อาจจะไม่สอดคล้องกับการดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่จริง เช่น บางพื้นที่อาจจะมีการสร้างฝายที่มีความยาว 13 เมตร หรือความสูงของสันฝายมากกว่า 1 เมตร เป็นต้น จึงควรเขียนกำหนดในตอนท้ายของแต่ละแบบว่า “ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศในพื้นที่นั้น” เพื่อความยืดหยุ่นในการดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก
เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ควรสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ตามแบบทั้ง 3 ขนาดดังกล่าวข้างต้นไปก่อน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นการเฉพาะหน้าในช่วงนี้

“ส่วนขนาดความยาวของฝาย สามารถยืดหยุ่นขยับความยาวของฝายได้ ไม่จำเป็นต้องมีความยาวของฝายแค่ 5 เมตร 10 เมตร หรือ 15 เมตรเท่านั้น ในเบื้องต้นควรสร้างฝายที่มีความยาวของฝายอยู่ในระหว่าง 5 – 15 เมตร แต่อาจจะมากกว่า 15 เมตรได้ เช่น 16 เมตร หรือ 17 เมตร ตามสภาพความจำเป็นในพื้นที่ เมื่อเกิดฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์จากโครงการในครั้งนี้ จะทำให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ถึงคุณประโยชน์ของฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์มากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจะมีการปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้มีความหลากหลาย พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น“ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่สุด

  1. การขออนุญาตใช้พื้นที่ของหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมเจ้าท่า ในการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ยังเกิดความล่าช้าในการดำเนินการ จึงอยากให้เกิดการประสานความร่วมมือหรือมีนโยบายในการเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว

ประเด็นดังกล่าว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเห็นว่า โครงการในครั้งแรกนี้ยังไม่ได้เน้นไปที่การสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่เมื่อทุกฝายเห็นผลเชิงประจักษ์ว่าฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งจะก่อให้จะเกิดประโยชน์ต่อการกักเก็บความชุ่มชื้นเพื่อรักษาและเพิ่มความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ป่ามากขึ้น เป็นการดัก กักเก็บ ชะลอน้ำ เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งช่วยลดปัญหาหมอกควันไฟป่าได้อีกด้วย หน่วยงานดังกล่าวข้างต้น น่าจะให้ความร่วมมือในการดำเนินการเป็นอย่างดี

  1. เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่กระบวนการสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ให้กับ อปท. ต่างๆ ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งได้รับทราบว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงการลงข้อมูลโครงการในระบบ Thai Water Plan โดยมี อปท. ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติและช่วงระยะเวลาในการจัดทำคำของบประมาณเกี่ยวกับเรื่องน้ำผ่านทาง สทนช. ซึ่งเป็นงบกลาง ที่จะมีการเปิดให้ลงระบบ Thai Water Plan ในวันที่ 8 – 22 พฤศจิกายน 2566 นี้ จึงขอเสนอให้มีวิทยากรเข้าร่วมให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับรูปแบบและประมาณการราคาของฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์เป็นการเบื้องต้นในการประชุมดังกล่าว โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวและรับไปประสานการดำเนินงานต่อไป

นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม ได้กล่าวว่า สำนักงบประมาณจะนำเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 และคณะรัฐมนตรีจะมีการพิจารณาทบทวนอีกครั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เพราะฉะนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยต้องส่งโครงการของ อปท. ทั้งหมดให้สำนักงบประมาณภายในวันที่
16 พฤศจิกายน 2566

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวว่า จากการได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่จริง ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์มีประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินที่มีจำนวนมหาศาลยาวไปตามเส้นทางที่น้ำบนดินในฝายเอ่อไปถึง ระดับน้ำใต้ดินที่เพิ่มขึ้นทำให้บ่อน้ำตื้นหรือสระน้ำที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น มีน้ำสูบใช้ตลอดทั้งปี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นธนาคารน้ำใต้ดินขนาดมหึมา

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วน จึงต้องกำชับให้ อปท. เตรียมความพร้อมของโครงการเพื่อให้โครงการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อน ซึ่งคาดว่างบประมาณจะออกในราวเดือนพฤษภาคม 2567

หลังจากนั้น จะมีการเตรียมความพร้อมเสนอโครงการการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในระยะใกล้นี้ และถ้าหากเป็นงบกลางจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมากกว่าการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี กล่าวคือคาดว่างบประมาณส่วนนี้สามารถนำมาใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ยิ่งก่อนนั้นในระยะใกล้นี้จะมีการเตรียมให้มีการของบประมาณประจำปี 2568 เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซิเมนต์ ต่อไปด้วย

“การหารือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ประสบความสำเร็จเป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้าง การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เห็นถึงคุณประโยชน์จะทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ และมีความยินดีที่จะร่วมกันผลักดันฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์เพื่อแก้ปัญหาทั้งเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานต่อไป”

อนึ่งก่อนหน้านั้น เวลา 10.00 นาฬิกา วันเดียวกัน ได้มีการประชุมคณะทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนด้วยกลยุทธ์การสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับกระทรวงมหาดไทย ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 330 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา มีประเด็นสำคัญการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยนายเจษ เสียงลือชา ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ชี้แจงว่า ”โครงการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น สำนักงบประมาณให้ สถ. ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่งโครงการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์มาที่จังหวัด และส่งต่อมาที่ สถ. ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 จากนั้น สถ. จะส่งโครงการทั้งหมดไปให้สำนักงบประมาณ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566

“หลังจากที่ ครม. เห็นชอบในกรอบวงเงินดังกล่าวแล้ว สำนักงบประมาณจะดำเนินการต่อไป และคาดว่าวันที่ 17 เมษายน 2567 จะมีการเสนอทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ หลังจากนั้นประมาณ 15 – 30 วัน ทางสำนักงบประมาณจะโอนเงินให้ สถ. และ สถ. จะจัดสรรเงินงบประมาณไปยัง อปท. ต่างๆ ต่อไป และคาดว่าจะสามารถนำงบประมาณดังกล่าวไปสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ได้ประมาณช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567”

นอกจากนั้น ยังมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ในการอนุมัติ อนุญาตของทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมเจ้าท่า ซึ่งจากการหารือมีแนวโน้มไปในทางที่ดี คือ ทุกหน่วยงานจะให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวก และดำเนินการอย่างรวดเร็ว ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่

ประเด็นดังกล่าว นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ได้แสดงความเห็นว่า ในเบื้องต้นอยากให้มีความร่วมมือกันเป็นโครงการนำร่อง เช่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าของโครงการ และทาง อปท. เป็นเจ้าของงบประมาณ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการ และยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกสำรวจพื้นที่ว่ามีจุดไหนที่ต้องการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์บ้าง เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่จะรู้จักพื้นที่ และความต้องการในพื้นที่เป็นอย่างดี

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

4 พฤศจิกายน 2566