ปิดตำนาน ! บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา Hyperloop One ทยอยเลิกจ้างพนักงาน และเตรียมปลดพนักงานทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้
หากใครตามวงการเทคโนโลยี คงคุ้นเคยกับชื่อของ Hyperloop One ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่กับการเปิดตัวในปี 2014 ในลอสแองเจลิส โดยการระดมทุนได้มากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท) โดยมีมหาเศรษฐี ‘ริชาร์ด แบรนสัน’ แห่ง Virgin เป็นหัวเรือใหญ่
ในปี 2020 บริษัท Hyperloop One ได้ทำการเปิดให้บริการโดยสารด้วยกระสวยความเร็วสูงพิเศษเป็นครั้งแรกของโลก
Hyperloop One เป็นบริษัทเทคโนโลยีแรก ๆ ที่สนใจพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปที่ใช้พลังแม่เหล็กไฟฟ้าผลักตู้โดยสารให้ลอยในอุโมงค์สุญญากาศด้วยความเร็วสูง
เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การเดินทางระหว่างนิวยอร์กและวอชิงตันใช้เวลาเพียง 30 นาที ซึ่งเร็วกว่าการบินด้วยเครื่องบินเจ็ตเชิงพาณิชย์ถึง 2 เท่า และเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงถึง 4 เท่า
ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท Hyperloop One กำลังจะปิดตัวลง หลังจากไม่สามารถชนะงานสัญญาสร้าง Hyperloop จากหน่วยงานใดได้
ขณะนี้บริษัท Hyperloop One ได้ทยอยเลิกจ้างพนักงานส่วนใหญ่แล้ว และการจ้างงานพนักงานที่เหลือจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ขณะเดียวกันก็กำลังพยายามขายทรัพย์สินที่เหลืออยู่ด้วยเช่นกัน
ทาง Hyperloop One ยังไม่มีแถลงการณ์หรือแสดงความเห็นใดต่อเรื่องนี้ แต่มีรายงานว่า ทรัพย์สินทางปัญญาที่เหลืออยู่จะถูกโอนไปยัง DP World
กระแสไฮเปอร์ลูปเคยถูกพูดถึงอย่างมากในประเทศไทย ขณะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข่าวหัวข้อ ไฮเปอร์ลูป : ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย โดยเขาเดินทางไปศึกษาดูงานที่สถานที่จริงกับบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมไฮเปอร์ลูป 3 แห่ง
ในงานแถลงข่าว ธนาธร ระบุว่า ไฮเปอร์ลูปมีความคุ้มค่ามากกว่ารถไฟความเร็วสูง ช่วยสร้างงานให้กับคนไทยถึง 180,000 กว่าตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามในช่วงนั้น ทฤษฎีของไฮเปอร์ลูปยังเป็นที่ถกเถียงอยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นทำได้จริงแค่ไหนและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่
หลายปีมานี้ แม้ว่าจะไม่มีการสร้างไฮเปอร์ลูปขนาดใหญ่ขึ้นมาได้หลังจากพยายามมาหลายปี แต่แนวคิดนี้ยังคงดึงดูดให้กับผู้ประกอบการมาร่วมพัฒนา โดยบริษัทที่ยังคงมีการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปยังมีอยู่อีกหลายแห่ง