เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ
ในคดีที่ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. และคดีที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพวก รวม 6 ราย ยื่นฟ้อง กกต. และ ประธาน กกต.ร้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2567 เนื่องจากเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
โดยศาลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการทำหน้าที่ของ ส.ว.ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก ส.ว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นๆ การที่ระเบียบ กกต.
การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร ส.ว.สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร ส.ว.ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเองเพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร ส.ว.เกินกว่าเหตุ
และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นั้น ศาลเห็นว่า ระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร ส.ว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด
จึงพิพากษาให้ เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ
นายชล คีรีกูณฑ์ ทนายนายพนัส กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในส่วนที่เราขอให้เพิกถอนไปประมาณ 80% แต่เมื่อวานศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องที่เราขอทุเลาฯการบังคับคดี แต่คำพิพากษาในวันนี้ก็จะมีผลบังคับภายหลังอ่านคำพิพากษาไปแล้ว 30 วัน ซึ่งระหว่างนี้ก็จะเปิดโอกาสให้คู่ความทั้งสองสามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้ แต่ผลคดี จะบังคับได้ก็ต่อเมื่อเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ทำให้แม้วันนี้ศาลปกครองกลางจะพิพากษาระเบียบของ กกต. หลายข้อ ประกอบด้วย ข้อ 3, 7, 8 ฉบับแรก และข้อ 11 (2) (3) แต่ว่าผู้สมัครก็ยังไม่สามารถแนะนำตัวได้อย่างต้องปฏิบัติตามระเบียบของ กกต. ก่อน ศาลปกครองมองว่าในเรื่องของการแนะนำตัว การใช้อำนาจออกระเบียบของ กกต. มากกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 36 วันนี้ศาลปกครองยืนยันชัดว่าสมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยไม่ว่าจะบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะว่า ส.ว. มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายต่างๆ รวมถึงเลือกผู้แทนขององค์กรอิสระ หน้าที่จึงกระทบกับประชาชนทุกคน ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลของ ส.ว.
จึงเป็นเรื่องของการเพิกถอนข้อกำหนดข้อ 3 ที่เป็นเรื่องของการเเนะนำตัวจะเกิดขึ้นได้กับ ส.ว.ด้วยกันเท่านั้นเป็นเรื่องไม่ชอบด้วกฎหมาย รวมถึงข้อกำหนดข้อ 7 ฉบับทั้งฉบับเก่าและใหม่ ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพแสดงความคิดเห็น การเขียนโฆษณาในรูปแบบต่างๆ ในส่วนข้อ 8 ศาลเพิกถอนเฉพาะฉบับเก่าเพราะฉบับใหม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้วจึงชอบด้วยกฎหมาย
ในส่วนข้อ 11 ซึ่งเป็นเรื่องของการเพิกถอนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของสื่อมวลชนที่อาจจะให้ประโยชน์แก่ตนเอง เนื่องจากศาลมองว่า ในโลกความเป็นจริงไม่เฉพาะกลุ่มอาชีพสื่อมวลชนเท่านั้นกลุ่มอาชีพอื่นๆ ก็มีอิทธิพลและเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ ส่วนเรื่องการโปรยใบปลิวศาลก็มองว่าบางคนเข้าถึงสื่อโซเชียลไม่ได้ก็สามารถใช้โปรยใบปลิวแทนได้ เป็นเรื่องความเท่าเทียม แต่ในเรื่องการสัมภาษณ์สื่อมวลชนศาลยังมองมาตรการที่จำเป็น เพราะผู้สมัครบางคนอาจจะมีอิทธิพลสามารถเข้าถึงสื่อได้มากกว่าผู้สมัครอื่น
มันมีความเป็นไปได้ว่าถ้าหากเราชนะคดีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็จะมีการเพิกถอนย้อนหลัง แต่มันก็มีปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร ที่ตอนนี้เรายังต้องปฏิบัติตามระเบียบ กกต.ต่อ ถ้า กกต.อุทธรณ์ กกต.ต้องคิดเรื่องนี้ด้วยว่าสุดท้ายแล้วเราอาจจะต้องเลือกตั้ง ส.ว. ใหม่หรือไม่ หรือเราจะทำยังไงกันต่อ เมื่อถามว่าเป็นความรับผิดชอบของ กกต.ทางกฎหมายหรือไม่ อาจจะไม่ใช่แต่ถ้าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม กกต. ต้องรับผิดชอบเต็มๆ เราไม่ได้ต้องการล้มการเลือกตั้ง เราต้องการแค่เรื่องระเบียบกระบวนการในการแนะนำตัว