ข่าวประจำวัน » ด่วนมาก ! ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง สว.ขอให้วินิจฉัย ‘เศรษฐา“พ้นจากนายก

ด่วนมาก ! ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง สว.ขอให้วินิจฉัย ‘เศรษฐา“พ้นจากนายก

17 May 2024
1304   0

คำร้อง สว.สายทหาร – สายอนุรักษ์ กว่า 40 คน ขอให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา – พิชิต” ถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จับตาประชุม 23 พ.ค.

ด่วน ! คำร้อง สว.ขอให้วินิจฉัยความเป็น รมต.'เศรษฐา - พิชิต' ถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 17 พ.ค.2567 ในเวลา 10.20 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องจาก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา หลังจากสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.กว่า 40 คน ได้เข้าชื่อ และยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัย ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 160(4)(5)หรือไม่

โดยประธานวุฒิสภา ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2567 และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง ไว้วันที่ 17 พ.ค.2567 เวลา 10.20 น. ขณะที่การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ต้องจับตาดูว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการพิจารณาหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องดังกล่าว ได้มี สว.สายทหาร และสายอนุรักษ์ ประมาณ 40 คนเข้าชื่อเพื่อยื่นเรื่องดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ของนายพิชิต ชื่นบาน หลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็น ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผ่านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่ถูกตั้งคำถามถึงคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม 

ขณะที่นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. ที่ร่วมลงชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ สว. ที่ต้องทำหน้าที่ ในฐานะเป็นผู้แทนปวงชน หลังประเด็นการดำรงตำแหน่งของนายพิชิตนั้น มีผู้แสดงความเห็นในวงกว้าง และเวทีสาธารณะ ว่าเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมาย เห็นว่าควรส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่ คือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย โดยมี สว. ร่วมเข้าชื่อ 40 คน จากที่รัฐธรรมนูญกำหนดจำนวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ สว.ที่มีอยู่

สำหรับเหตุผลที่บรรยายให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา นายดิเรกฤทธิ์ ระบุว่า คือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งกรณีของนายพิชิต ชื่นบาน มีข้อเท็จจริงที่ปรากฎให้เห็นว่า มีการละเมิดอำนาจศาล และมีคำสั่งศาลสั่งให้จำคุก โดยมีคำบรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงของศาลที่ชัดเจนว่ามีพฤติกรรมทุจริต ติดสินบนต่อกระบวนการยุติธรรม และถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาทนายความ ให้ลบชื่อจากการเป็นทนายความ ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ชัดแจ้ง ว่าไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และยังมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วนกรณียื่นให้พิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของนายเศรษฐา ด้วย นายดิเรกฤทธิ์ บอกว่า เป็นกรณีสืบเนื่องกัน เพราะมีประเด็นทักทวงต่อการตั้งนายพิชิตให้ดำรงตำแหน่ง แต่ทำไมนายกฯ ยังเสนอชื่อและโปรดเกล้าฯ ให้นายพิชิตดำรงตำแหน่งในตำแน่งรัฐมนตรีอีก  ดังนั้นจึงถือเป็นความรับผิดชอบของนายกฯ ซึ่งกรณีนายกฯ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย 

“กรณีที่นายกฯ ระบุว่าได้หารือกับกฤษฎีกาแล้ว ก็พบว่าเป็นการหารือที่ไม่ตรงประเด็น ทั้งระยะเวลาการพ้นโทษ และการตีความระหว่างคำสั่ง กับคำพิพากษาเหมือนกันหรือไม่ ทั้งนี้เรายังพบประเด็นที่เป็นปัญหา จึงเข้าชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว