ข่าวประจำวัน » ดิ้นเฮือกสุดท้าย ! อานนท์ รอฟังคำพิพากษา อ้างถ้าติดคุกเป็รายจ่ายที่คุ้ม

ดิ้นเฮือกสุดท้าย ! อานนท์ รอฟังคำพิพากษา อ้างถ้าติดคุกเป็รายจ่ายที่คุ้ม

24 September 2023
340   0

23 ก.ย.2566 – นายอานนท์ นำภา ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตำรวจพยายามจะอ้างเรื่องขบวนเสด็จเพื่อสลายการชุมนุม ซึ่งพอคนมาเป็นแสนมันเกิดความสูญเสียแน่ๆ ภาพความสูญเสียในเหตุการณ์พฤษภา 35 มันลอยขึ้นมาในหัว ผมจึงขึ้นรถเครื่องเสียงไปปราศรัย ปรามและขู่ตำรวจไม่ให้เข้ามาสลายการชุมนุม นี่คือข้อความที่ผมโดน 112 ด้วยความเต็มใจ และภูมิใจที่ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสีย ทำดีที่สุดในฐานะแกนนำที่จะทำได้

ตำรวจเริ่มเลิกลั่ก เอาไงดี ? และด้วยการพูดไปเช่นนั้นในช่วงสายๆ การสลายการชุมนุมจึงไม่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลก็วางแผนสลายต่อโดยจงใจพาขบวนเสด็จพระราชินีฝ่าเข้าไปในการชุมนุม เพื่อสร้างสถานการณ์และอ้างเป็นเหตุสลายการชุมนุมในช่วงหัวรุ่ง

อย่างไรก็ตาม เรารู้ทัน จึงประกาศสลายการชุมนุมก่อนที่ทหารตำรวจจะเข้ามาสลาย ผมยืนส่งพี่น้องผู้ชุมนุมจนถึงตีสี่ โดนจับขึ้นเครื่องไปเชียงใหม่ ผมคิดว่าผมทำดีที่สุดแล้ววันนั้น

26 กันยายนนี้ถ้าต้องติดคุก ก็เป็นรายจ่ายที่คุ้มค่า

ด้านเฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คำพิพากษาที่กำลังจะเกิดขึ้นในคดี ม.112 คดีแรกของอานนท์ นำภา ในวันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ จะมีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

คดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ภายหลังจากเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ซี่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ในวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยในเหตุวันชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่คดีของพริษฐ์ ปนัสยา และแกนนำ รวม 8 คน ถูกแยกฟ้องไปอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงดุสิต เนื่องจากมีข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขัดขวางจราจร ซึ่งคดีอยู่ระหว่างสืบพยานในช่วงปลายปี 2566 นี้

ภาพรวมการสืบพยาน : โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง ส่วนจำเลยสู้ว่าเจตนาที่กล่าวปราศรัยเป็นเพียงการปกป้องประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม ไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม จนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดอันตรายถึงชีวิต

ในคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 6 นัด ซึ่งตลอดการสืบพยานศาลใช้วิธีการพิจารณาคดีแบบบันทึกวีดิโอภาพ โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 22 ปาก ในระหว่างวันที่ 20-23, 27–28 มิ.ย. 2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566