วันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในโครงการติดตามโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University System) พร้อมทั้งกล่าวต้อนรับคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (รอบ 6 เดือน) ผ่านระบบออนไลน์ โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ พร้อมทั้งนำเยี่ยมชมนิทรรศการจากผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 34 บูท ณ อาคารแผ่พืชน์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “ตามที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ MJU Enhancing SMEs and New Entrepreneurs with Smart and Modern Agricultural Technology Innovation (SMATI) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมีอัตลักษณ์ความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร ความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล เครือข่ายความร่วมมือ และปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางและมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การยกระดับและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สอดคล้องกับแนวคิดหลักของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมขับเคลื่อนการพลิกโฉมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology Development and Innovation) และร่วมขับเคลื่อนการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับโครงการนี้ มีหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการกับมหาวิทยาลัย จำนวน 36 กลุ่มวิสาหกิจ / ธุรกิจ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ เชียงราย น่าน สุโขทัย ลำปาง พิจิตร ขอนแก่น ซึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือน ได้จัดทำแผนการสนับสนุนด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วเสร็จ 1 แผน จัดทำ Module สำหรับฝึกอบรมผู้ประกอบการแล้ว จำนวน 6 Module อีกทั้งได้กำหนดและออกแบบพื้นที่ผลิตการเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรและอาหาร 1 แห่ง รวมถึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย จำนวน 39 ผลิตภัณฑ์
ส่วนในอนาคต มหาวิทยาลัยได้เตรียมส่งมอบผลผลิตตามตัวชี้วัดในรอบ 12 เดือน คือ การพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิศวกรรมฟาร์มอัจฉริยะและนวัตกรรมเกษตร จำนวน 2 สาขาวิชา ประกอบด้วย วิชาเอกวิศวกรรมฟาร์มอัจฉริยะ และวิชาเอกวิศวกรรมนวัตกรรมเกษตร ได้คัดเลือกและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญภายในและภายนอก จำนวน 25 คน ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรม สร้างธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย จำนวน 21 กิจการ รวมถึง ได้กำหนดแผนการพัฒนาตลาดหรือช่องทางที่ครอบคลุมทุกวิทยาเขตและระบบออนไลน์จำนวน 4 ช่องทาง คือ 1.) การพัฒนากาดแม่โจ้ 2477 2.) ศูนย์พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและรองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ม.แม่โจ้-แพร่ 3.) การส่งเสริมและยกระดับตลาดสินค้าชุมชนอำเภอละแม จังหวัดชุมพร ม.แม่โจ้-ชุมพร และ 4.) พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ กาดแม่โจ้ 2477”
การดำเนินโครงการนี้จึงเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ สู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ เป็นการขับเคลื่อนโครงการต่างๆของมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 ได้อย่างเป็นรูปธรรม
,………………………
ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน